บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง บอกบุญอุโบสถ

บอกบุญอุโบสถ (๕)

——————-

ศีลแปดกับศีลอุโบสถต่างกันอย่างไร

ศีลแปด กับ ศีลอุโบสถ ไม่ต่างกันในสาระสำคัญ คือองค์ศีลเท่ากันเหมือนกันทุกอย่าง แต่ต่างกันที่เจตนาในการถือ

มีคำอธิบายดังนี้

ถ้าตั้งเจตนาถือศีลแปด ก็คือตั้งใจงดเว้นไม่ประพฤติสิ่งต่างๆ ๘ เรื่อง ตั้งแต่ไม่ฆ่า ไปจนถึงไม่นอนบนที่นอนอ่อนนุ่มสุขสบาย

ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ว่า ทั้ง ๘ เรื่องนี้ต่างเป็นอิสระแก่กัน สมมุติว่าละเมิดเข้าเรื่องหนึ่ง อีก ๗ เรื่องก็ยังบริสุทธิ์ดีอยู่ ไม่กระทบกระเทือน คือไม่เสียหายบกพร่องไปด้วยแต่ประการใด พูดสั้นๆ ว่า ผิดข้อไหนก็เสียเฉพาะข้อนั้น

แต่ถ้าตั้งเจตนาถือศีลอุโบสถขึ้นมา ก็จะต้องใช้หลักการใหม่ กล่าวคือ ศีลทั้ง ๘ ข้อนั้นต้องรวมเข้าเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่เป็นอิสระแก่กันเหมือนถือศีลแปดธรรมดา คราวนี้สมมุติว่าละเมิดเข้าเรื่องหนึ่ง อีก ๗ เรื่องก็จะต้องพลอยกระทบกระเทือนไปด้วย

คำว่า “กระทบกระเทือนไปด้วย” ไม่ได้หมายความว่า ตบยุงตายตัวหนึ่งมีผลเท่ากับลักทรัพย์ ร่วมประเวณี พูดเท็จ ดื่มเหล้า เรื่อยไปจนถึงนอนบนที่นอนอ่อนนุ่มสุขสบาย หรือที่นิยมพูดกันว่า ศีลขาดไปข้อเดียวเท่ากับขาดหมดทุกข้อ ไม่ได้หมายความแบบนั้น

แต่หมายความว่า องค์ของอุโบสถไม่บริสุทธิ์บริบูรณ์ คือแม้จะขาดข้อไหนก็เสียเฉพาะข้อนั้น ข้ออื่นๆ ไม่ได้ขาดไปด้วยก็จริง แต่ก็มีผลทำให้คุณภาพของอุโบสถศีลไม่สมบูรณ์ ได้อานิสงส์ไม่เต็มที่

เหมือนยาขนานหนึ่งประกอบด้วยสมุนไพร ๘ ชนิด ถ้าผสมสมุนไพรครบตามสูตร ยาก็มีสรรพคุณยอดเยี่ยม ถ้าขาดสมุนไพรชนิดใดชนิดหนึ่งไป สรรพคุณของยาก็จะด้อยลงไป ยิ่งถ้าขาดมาก ยาขนานนั้นอาจรักษาโรคไม่ได้ผล

จะเห็นได้ว่า เจตนาในการถือศีลทั้งสองประเภทนี้แตกต่างกันมาก คือ ถือศีลแปด เจตนาอ่อนกว่า คือถือแบบสบายๆ หากจะหายหกตกหล่นไปบ้างเป็นบางข้อ ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะเสียหายไปทั้งหมด เพราะข้ออื่นๆ ก็ยังบริสุทธิ์ดีอยู่

แต่ถือศีลอุโบสถนั้นเจตนาต้องแข็งกล้ามากกว่าหลายเท่า เพราะต้องระแวดระวังให้บริสุทธิ์ดีหมดพร้อมๆ กันไปทั้ง ๘ เรื่อง

พอจะอุปมาได้คล้ายกับคนขนของ ๘ ชิ้น ถือศีลแปดเหมือนขนไปทีละชิ้น สบายดี แต่ต้องใช้เวลาถึง ๘ เที่ยว ส่วนถือศีลอุโบสถเหมือนขนไปทีเดียวทั้ง ๘ ชิ้น หนักหน่อย ต้องระวังมากหน่อย แต่ใช้เวลาแค่เที่ยวเดียว

ศีลแปดกับศีลอุโบสถจึงต่างกันตรงนี้ ท่านจึงว่าถือศีลอุโบสถมีอานิสงส์มากกว่า

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๒ มีนาคม ๒๕๖๔

๑๓:๐๙

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *