บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง บอกบุญอุโบสถ

บอกบุญอุโบสถ (๙)

——————-

อุโบสถสูตร (๓)

ทำจิตให้ผ่องใส คืออริยอุโบสถ

ดูก่อนวิสาขา ก็อริยอุโบสถเป็นอย่างไร

จิตที่เศร้าหมอง ย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียร

ทำได้อย่างไร

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมระลึกถึงพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก ทรงเป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทรงเบิกบานแล้ว ทรงเป็นผู้จำแนกธรรม

เมื่อหมั่นระลึกถึงพระตถาคตอยู่ จิตย่อมผ่องใส เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้

เปรียบเหมือนศีรษะที่เปื้อน จะสะอาดได้ก็ด้วยการลงมือทำ

คืออย่างไร

คือใช้ขี้ตะกรัน ดินเหนียว น้ำ กับการลงมือทำตามวิธีการ

ศีรษะที่เปื้อนย่อมสะอาดได้ด้วยการลงมือทำอย่างนี้แล ฉันใด

จิตที่เศร้าหมองย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ก็ด้วยความเพียรฉันนั้นเหมือนกัน

ดูก่อนวิสาขา อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ … เมื่อหมั่นระลึกถึงพระตถาคตอยู่ จิตย่อมผ่องใส เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้

อริยสาวกนี้เรียกว่าเข้าจำพรหมอุโบสถ อยู่ร่วมกับพรหม และมีจิตผ่องใสเพราะปรารภพรหม เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้

จิตที่เศร้าหมองย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างนี้แล

ดูก่อนวิสาขา … อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ย่อมระลึกถึงพระธรรมว่า ธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันบุคคลผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน

เมื่อหมั่นระลึกถึงพระธรรมอยู่ จิตย่อมผ่องใส เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้

เปรียบเหมือนกายที่เปื้อน จะทำให้สะอาดได้ก็ด้วยการลงมือทำ

คืออย่างไร

คือใช้เชือก แป้งสำหรับอาบน้ำ กับการลงมือทำตามวิธีการ

กายที่เปื้อนย่อมสะอาดได้ด้วยการลงมือทำอย่างนี้แล ฉันใด

จิตที่เศร้าหมองย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ก็ด้วยความเพียรฉันนั้นเหมือนกัน

ดูก่อนวิสาขา อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ … เมื่อหมั่นระลึกถึงพระธรรมอยู่ จิตย่อมผ่องใส เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้

อริยสาวกนี้เรียกว่าเข้าจำธรรมอุโบสถ อยู่ร่วมกับธรรม และมีจิตผ่องใสเพราะปรารภธรรม เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้

จิตที่เศร้าหมองย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างนี้แล

ดูก่อนวิสาขา … อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมระลึกถึงพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม เป็นผู้ปฏิบัติสมควร นี้คือคู่แห่งบุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ นี่แหละคือพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ควรแก่ของคำนับ เป็นผู้ควรแก่ของต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า

เมื่อหมั่นระลึกถึงพระสงฆ์อยู่ จิตย่อมผ่องใส เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้

เปรียบเหมือนผ้าที่เปื้อน จะทำให้สะอาดได้ก็ด้วยการลงมือทำ

คืออย่างไร

คือใช้เกลือ น้ำด่าง โคมัย น้ำ กับการลงมือทำตามวิธีการ

ผ้าที่เปื้อนย่อมสะอาดได้ด้วยการลงมือทำอย่างนี้แล ฉันใด

จิตที่เศร้าหมองย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ก็ด้วยความเพียรฉันนั้นเหมือนกัน

ดูก่อนวิสาขา อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ … เมื่อหมั่นระลึกถึงพระสงฆ์อยู่ จิตย่อมผ่องใส เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้

อริยสาวกนี้เรียกว่า เข้าจำสังฆอุโบสถ อยู่ร่วมกับสงฆ์ และมีจิตผ่องใสเพราะปรารภสงฆ์ เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้

จิตที่เศร้าหมองย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างนี้แล

(อุโบสถสูตรยังมีต่อ)

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๔ มีนาคม ๒๕๖๔

๑๐:๔๓

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *