บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง นิพพานกถา

นิพพานกถา ๐๘ : ทางดำเนินเพื่อให้ถึงพระนิพพาน (จบ)

—————————–

นิพฺพานกถา

พระธรรมปาโมกข์ (วิน ป.๙)

วัดราชผาติการาม พระนคร เรียบเรียง

พ.ศ.๒๕๐๖

…………………………..

(ปรับบรรทัด จัดวรรคตอนใหม่เพื่อให้อ่านง่าย

คงสำนวนไว้ตามต้นฉบับ)

…………………………..

ทางดำเนินเพื่อให้ถึงว่าง ออก ดับ เย็น หยุด ก็ไม่พ้นจากศีล สมาธิ ปัญญา

เพราะศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อกระจายออกโดยละเอียด ก็เป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ

ในอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการนั้น องค์ที่สำคัญที่สุดก็คือความเห็นชอบ มีเรี่ยวแรง มีแรงส่ง ให้ถึงพระนิพพาน

เพราะเมื่อเห็นชอบแล้ว อะไรๆ ก็ชอบไปหมด

ตรงกันข้าม ถ้าเห็นผิดเสียอย่างเดียวแล้ว ก็ผิดหมดเช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้น จงพร้อมใจกันบำเพ็ญศีล สมาธิ และปัญญาเถิด

ทำศีลให้เป็นอธิศีล คือเป็นศีลยิ่ง ให้ศีลดียิ่งกว่าอะไรหมด กิเลสชั้นหยาบที่เป็นทุจริตก็ดับ

เมื่อทำสมาธิให้เป็นการตั้งจิตไว้มั่นชอบยิ่ง อย่าตั้งอย่างอื่นไว้ให้ยิ่งกว่าสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิ กิเลสชั้นกลางที่ทำให้กลุ้มใจร้อนใจก็ดับ

เมื่อมีปัญญาเป็นอธิปัญญายิ่ง กิเลสชั้นละเอียดก็ดับ

เป็นอันว่าง ออก ดับ เย็น หยุด ถึงที่สุด ฯ

ถ้าจะใช้ปฏิบัติโดยวิธีลัดให้ได้ผลเร็ว ก็ให้คอยสังเกตที่ใจ

เมื่อเรื่องที่จะก่อความร้อนใจจะเกิด หรือกำลังจะเกิด ก็ให้ตั้งสติกำหนดที่ใจ ปล่อยวางอารมณ์อื่นเสีย แล้วภาวนานึกกลับไปกลับมาซ้ำๆ บ่อยๆ ว่า ว่าง ออก ดับ เย็น หยุด ๆ

จนเรื่องนั้นสงบไป ก็ได้ชื่อว่านิพพานชั่วคราวหนึ่ง

เมื่อจะเกิดขึ้นอีก ก็ให้ปฏิบัติโดยวิธีนี้อีก เรื่องร้อนใจก็จะดับไป

อาการที่ใจไม่มีกิเลสเครื่องเศร้าหมองใจนี้แล เรียกว่าพระนิพพานในพระพุทธศาสนา

นิพพานมีอรรถว่า ว่าง ออก ดับ เย็น หยุด มีอรรถาธิบายดังบรรยายมา ด้วยประการฉะนี้.

เอวํก็มี ด้วยประการฉะนี้ ฯ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๒

๑๑๒:๕๔

———–

ภาพประกอบ หมายเลข 35-40

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *