บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง นิพพานกถา

นิพพานกถา

————

นิพฺพานกถา

พระธรรมปาโมกข์ (วิน ป.๙)

วัดราชผาติการาม พระนคร เรียบเรียง

พระธรรมเทศนา

ชุด “ไตรมาสเทศนา”

กัณฑ์ที่ ๑๒

จัดพิมพ์โดย

บริษัท ประชาชน จำกัด

พ.ศ.๒๕๐๖

จารึกผู้สร้างและอุทิศเจตนา

———–

ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนายุกาล ล่วงแล้วได้ ๒๕๐…. พรรษา ข้าพเจ้า ………. ได้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์สร้างคัมภีร์พระธรรมเทศนา ชุด “ไตรมาสเทศนา” กัณฑ์นี้ไว้ในพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นสมบัติประจำวัด ……….. ตำบล ……….. อำเภอ ……….. จังหวัด ……….. สำหรับพระสงฆ์ใช้เป็นคู่มือเทศนาโปรดพุทธศาสนิกชนทั้งหลายให้เจริญด้วยความรู้และส่งเสริมให้เกิดธรรมปฏิบัติสืบต่อไป

อิมินา ธมฺมทาเนน ด้วยธรรมทานซึ่งข้าพเจ้าได้บำเพ็ญดีแล้วนี้ ขอจงเป็นกุศลติดตามให้ข้าพเจ้ารุ่งเรืองด้วยสติปัญญาสามารถรู้แจ้งแทงตลอดในมรรคผล ข้ามพ้นสังสารวัฏฏ์ได้ในอนาคตกาลเบื้องหน้า และขอกุศลนี้จงสำเร็จประโยชนสุขแก่ปิยชนซึ่งเป็นที่รักของข้าพเจ้า มีบิดา มารดา สามี ภรรยา บุตร ธิดา และญาติทั้งปวงซึ่งล่วงลับไปแล้ว จงได้รับอนุโมทนาบุญส่วนนี้โดยทั่วกัน เทอญ.

นิพฺพานกถา

พระธรรมปาโมกข์ (วิน ป.๙)

วัดราชผาติการาม เรียบเรียง

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ

นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธาติ.

บัดนี้ จักได้แสดงพระธรรมเทศนา พรรณนาศาสนธรรม อันเป็นคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา เพื่อเป็นเครื่องเกื้อกูลการฟัง อบรมปัญญาบารมีของท่านสาธุชนพอสมควรแก่เวลา ฯ

วันนี้ จักได้แสดงเรื่องพระนิพพาน พอได้ยินคำว่า นิพพาน ท่านสาธุชนอย่าเพิ่งท้อใจว่าเป็นของยาก ฟังไม่เข้าใจ ของยากทุกอย่างถ้าระอาท้อใจว่าทำไม่ได้ ก็คงเป็นของยากตลอดไป ไม่ใช่วิสัยของนักปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา ฯ

พระนิพพานนี้ ในวงการปฏิบัติยังเข้าใจกันไปหลายอย่างต่างๆ กัน บ้างก็เข้าใจว่า นิพพานก็คือตาย พระอรหันต์ทั้งหลายดับจิตแล้ว เขาเรียกว่านิพพาน พึงเข้าใจว่านิพพานไม่ใช่ตาย และตายไม่ใช่นิพพาน บ้างก็เข้าใจว่านิพพานเป็นเมือง ๆ หนึ่งซึ่งเรียกว่าเมืองแก้ว กล่าวแล้วก็คือพระนิพพาน เพราะไปหลงคำที่ท่านกล่าวอานิสงส์ของศีล โดยปุคคลาธิษฐานว่า ทฺวารํ ปน นิพฺพานนครสฺส ปเวสเน ศีลเป็นประตูที่จะดำเนินไปสู่พระนครคือพระนิพพาน ฯ บางท่านยิ่งเข้าใจเลยไปถึงว่า เขาว่าที่พระนิพพานไม่มีอะไร ดินน้ำไฟลมก็ไม่ใช่ โลกนี้โลกหน้าก็ไม่ใช่ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ก็ไม่ใช่ ที่พระนิพพานคงไม่มีอะไรรับประทาน หนังละครก็ไม่มีดู ไม่มีสนุกสนานบานใจบ้าง จะไปทำไมกัน ฯ บ้างก็เข้าใจนิพพานเป็นธรรมสูงเกินไป คนยังครองบ้านครองเรือน จะสามารถบรรลุได้อย่างไร นี่ก็เข้าใจผิดอีก พระนิพพานไม่สูง อยํ โข เม กาโย กายของเรานี้แล อุทฺธํ ปาทตลา เบื้องบนนับแต่พื้นเท้าขึ้นไป อโธ เกสมตฺถกา เบื้องต่ำนับตั้งแต่ปลายผมลงมา ตจปริยนฺโต มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ พระนิพพานอยู่ในสถานที่ตามที่กำหนดนี้ เมื่อความเข้าใจไม่ตรงไม่ถูกอย่างนี้ ก็ยากที่จะปฏิบัติดำเนินกายวาจาใจ ให้ไปตรงต่อพระนิพพานได้ ผู้นับถือพระพุทธศาสนาแม้จะยังไม่สามารถปฏิบัติให้บรรลุพระนิพพานได้ก็จริง ก็ควรศึกษาค้นคว้าวิจารณ์ให้ได้ความเข้าใจ จะเป็นอุปการะยิ่งใหญ่แก่การปฏิบัติ เหมือนสถานที่ที่เรายังไม่เคยไปเห็นด้วยตา แต่ควรหาแผนที่มาศึกษาให้เข้าใจตรงตามแผนที่ ฉะนั้น ฯ

คำว่านิพพาน เมื่อรวบรวมความหมาย ตามที่ท่านอธิบายไว้ในพระบาลีและอรรถกถา กับทั้งที่มาอื่นๆ แล้ว คงสรุปความได้เนื้อความ ๕ ประการ คือ

๑. นิพพาน แปลว่า ว่าง. ๒. นิพพาน แปลว่า ออก. ๓. นิพพาน แปลว่า ดับ. ๔. นิพพาน แปลว่า เย็น. ๕. นิพพาน แปลว่า หยุด.

โดยความหมายก็คือ อาการที่บุคคลปฏิบัติจนจิตใจว่าง ออก ดับ เย็น หยุด นี่แลเรียกว่าบรรลุพระนิพพาน ฯ

ที่ว่าพระนิพพานว่างนั้น โดยคำอธิบายว่า ว่างจากกิเลสที่มาทำใจให้เศร้าหมอง ต้องด้วยคำว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุญฺญํ นิพพานว่างอย่างยิ่ง ความว่างนี้ เพียงว่างการว่างงาน ยังมีความโปร่งใจ เช่นตรากตรำทำงานมาตลอดเจ็ดวัน ถึงวันพระเป็นวันหยุด วันว่าง ก็โปร่งใจ มีการงานในหน้าที่ที่จะต้องทำสัก ๗ วัน แต่พยายามทำให้เสร็จภายใน ๖ วัน อีกวันว่างก็สบายใจ ว่างการว่างงานยังได้รับความสุข ถ้าว่างภายในคือใจว่างจากกิเลส ว่างจากรัก ว่างจากโกรธ ว่างจากถือเราถือเขา ว่างจากเรื่องยุ่งใจ เรื่องร้อนใจ ว่างจากอิจฉาริษยากัน ว่างจากการติดโน่นติดนี่ ว่างจากความเห็นแก่ตัว ว่างจากถือตัวถือตน ว่างอย่างนี้ จักได้รับความสบายใจสักเพียงไหน ลองหลับตานึกดูก็คงจะรู้ได้ด้วยใจของตนเอง ฯ

นิพพานที่แปลว่าออกนั้น คือออกจากเครื่องร้อยรัด ดังคำวิเคราะห์ศัพท์ว่า นิกฺขนฺตํ วานโต นตฺถิ วา เอตฺถ วานํ อิมสฺมึ วา อธิคเต วานสฺส อภาโวติ นิพฺพานํ ที่ชื่อว่านิพพาน เพราะออกจากเครื่องร้อยรัดใจ เพราะเป็นที่ไม่มีเครื่องร้อยรัดใจ หรือเพราะเมื่อได้บรรลุนิพพานนี้แล้ว หมดเครื่องร้อยรัดใจ ฯ เครื่องร้อยรัดใจก็คือกิเลสตัณหานั้นแล เช่นความที่ใจดิ้นรนเดือดร้อนรำคาญ ทะเยอทะยานอยากได้ อยากดี อยากมีอยากเป็น เป็นต้น เมื่อเครื่องร้อยรัดมีอยู่ที่ใจก็ร้อยรัดในสิ่งที่เราอยากได้อยากมี เหมือนด้ายร้อยเย็บผ้าสองชิ้นให้ติดเป็นชิ้นเดียวกัน ฉะนั้น เมื่ออาการของใจเป็นเช่นนี้ ใจก็ติดสลัดไม่ออก ไปไหนไม่ได้ ขืนไปก็เดือดร้อนคิดถึง ที่จริงเครื่องร้อยรัดใจนี้เขามีความกรุณา เย็บร้อยหมู่ประชาเพียงหย่อนๆ ประหนึ่งว่าจะผ่อนหรือแก้ได้ง่าย แต่ครั้นจะแก้เข้าจริงไซร้ แก้ไม่ได้ดังใจ ดังพระพุทธภาษิตเทศนานัยว่า

เอตํ ทฬฺหํ พนฺธนมาหุ ธีรา

โอหารินํ สิถิลทุปฺปมุญฺจํ

นักปราชญ์ทั้งหลาย กล่าวเครื่องผูกเครื่องร้อยรัดนั้น อันผูกไว้หลวมๆ หย่อนๆ แต่แก้ยากว่าเป็นเครื่องผูกเครื่องร้อยรัดอันมั่น ดังนี้ ฯ

นอกจากนั้น ท่านยังประพันธ์ไว้เป็นคำโคลง แสดงถึงเครื่องผูกว่าเป็นห่วง ดังปรากฏว่า

ปุตฺโต คีเว         มีบุตรบ่วงหนึ่งเกี้ยว พันคอ

ธนํ ปาเท          ทรัพย์ผูกบาทาคลอ หน่วงไว้

ภริยา หตฺเถ       ภริยาเยี่ยงบ่วงปอ รึงรัด มือนา

                       สามบ่วงใครพ้นได้ จึ่งพ้นสงสาร ฯ

ที่ว่าอย่างนี้ มิได้หมายความว่า ให้เลิกให้ทิ้งเสียหมด เป็นแต่เพื่อให้เห็นว่า เครื่องผูกเหล่านี้ติดตรึงถึงใจ ไปไหนก็เป็นห่วงออกไปไม่ได้ ไปวัดฟังเทศน์วันพระก็ไปไม่ได้ ติดไม่มีคนเฝ้าบ้าน จะทำบุญสุนทร์ทานก็ติดขัดไม่มีเวลา แต่ถ้าจะไปทำกิจที่จะเพิ่มความติดความร้อยรัด ไม่ขัดข้อง ไปได้ทำได้ ไม่มีใครห้ามปราม ความติดความข้อง เพราะเครื่องร้อยรัดนี้ ติดจนตัวตายก็มี มีตัวอย่างที่ได้รู้ได้เห็นอยู่ถมไป ผู้ปฏิบัติพยายามทำใจให้ออกจากความติด ความพัวพันห่วงใย ให้ใจสบายปลอดโปร่งไม่ติดพัน ก็ชื่อว่าการปฏิบัตินั้นก้าวไปตรงสู่พระนิพพาน ฯ

ที่แปลพระนิพพานว่าดับนั้น คือดับความร้อนใจ ความร้อนก็เกิดจากไฟ ไฟที่ตรัสไว้ในพระพุทธศาสนาที่ร้อนจัด ควรระวัง ก็มีอยู่ ๓ กองคือ ราคคฺคิ ไฟรัก โทสคฺคิ ไฟโกรธ โมหคฺคิ ไฟหลง ไฟ ๓ กองนี้เผาลนจิตใจของคนทั่วไป ถูกกองไหนก็ร้อนทั้งนั้น สมด้วยคำประพันธ์ที่ท่านกล่าวเป็นกลอนสอนไว้ว่า

อันราโค โทโส โมโหนี้       เป็นราคีของใจอันใหญ่หลวง

เป็นมูลรากราคินสิ้นทั้งปวง  คอยเหนี่ยวหน่วงให้นุงยุ่งหัวใจ ดังนี้ ฯ

รักก็ร้อน โกรธก็ร้อน หลงก็ร้อน ร้อนทั้งสามประการนี้ ดับเมื่อใด เมื่อนั้นก็เป็นนิพพาน อยู่บ้านก็ได้นิพพานที่บ้าน อยู่ในที่ทำงานก็ได้นิพพานในที่ทำงาน เป็นพระเจ้าพระสงฆ์ก็ได้นิพพาน เป็นผู้ครองบ้านครองเรือนก็ได้นิพพาน ยินเดินนั่งนอนก็ได้นิพพาน ได้ทุกอิริยาบถ ทุกสถานที่ ทุกกาลเวลา ฯ

ที่ว่าพระนิพพานเย็นนั้น คือเย็นกายเย็นใจ โดยเฉพาะก็คือเย็นใจ จิตใจที่ยังมีกิเลสย่อมร้อน จิตใจที่ไม่มีกิเลสย่อมเย็น จิตใจที่ยังยุ่งย่อมร้อน จิตใจที่ไม่ยุ่งย่อมเย็น จิตใจที่ยังมีอิจฉาริษยาอยากได้ใคร่ดีย่อมร้อน จิตใจที่ปราศจากอิจฉาริษยา ไม่อยากได้ใคร่ดีย่อมเย็น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดับกิเลสกับทั้งวาสนาได้หมด จึงได้มีพระพุทธพจน์แก่ท่านผู้หนึ่งว่า สีติภูโตสฺมิ นิพฺพุโต เราเป็นผู้ดับเย็นแล้ว ดังนี้ ฯ เย็นใจได้ชั่วคราวก็เป็นนิพพานชั่วคราว ดับได้เย็นใจตลอดวันก็เป็นนิพพานทั้งวัน ดับได้หมดก็เป็นนิพพานหมด ตามกำลังแห่งการปฏิบัติ ฯ

ที่แปลพระนิพพานว่าหยุดนั้น หมายถึงหยุดทำความชั่วทุกอย่าง มีภาษิตโบราณอยู่บทหนึ่งว่า ใครไม่หยุดไม่ถึงพระ อธิบายว่าเมื่อไม่หยุดทำความชั่วก็ไม่ถึงพระนิพพาน ไม่ถึงพระรัตนตรัย คนชั่วแม้เพียงพระเดชพระคุณก็ไม่มี เมื่อหยุดทำชั่วด้วยกายวาจาใจ กายวาจาใจก็ไม่มัวหมอง ต้องด้วยคำที่นางจุฬสุภัททากล่าวสรรเสริญ พระพุทธคุณและพระคุณของพระอรหันต์ทั้งหลายว่า กายกมฺมํ สุจิ เตสํ กายกรรมของท่านสะอาด วจีกมฺมํ อนาวิลํ วจีกรรมของท่านไม่ขุ่นหมอง (มโนกมฺมํ สุวิสุทฺธํ) มโนกรรมของท่านบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ตาทิสา สมณา มม ผู้เช่นนี้เป็นสมณะของข้าพเจ้า ดังนี้ ฯ นี่แลเป็นเครื่องหยุดทำความชั่ว เมื่อหยุดทำความชั่ว กายก็สะอาดไม่มัวหมอง ใจก็ผ่องแผ้วบริสุทธิ์ ชื่อว่าหยุดทำความชั่วเป็นนิพพาน ฯ

รวมความว่า พระนิพพานว่างจากกิเลส ฯ ออกจากเครื่องร้อยรัดใจคือกิเลสตัณหา ฯ ดับไฟคือรัก โกรธ หลง ฯ เย็นกาย เย็นใจเพราะไฟ ๓ กองนั้นไม่เผาใจ ฯ หยุดทำความชั่วทุกอย่างทุกประการ ฯ ปฏิบัติได้ประการใดประการหนึ่ง ก็เป็นอันได้ประสบพระนิพพาน เช่นใจว่างจากกิเลส ไม่มีกิเลส ก็ชื่อว่าออก ดับ เย็น หยุด เมื่อใจออกจากเครื่องร้อยรัดใจได้ ก็ชื่อว่าว่าง ดับ เย็น หยุด หรือเมื่อดับไฟ ๓ กองได้ ก็ชื่อว่า ว่าง ออก ดับ เย็น หยุด เมื่อเย็นกายเย็นใจ ก็ชื่อว่า ว่าง ออก ดับ หยุด เมื่อหยุดทำความชั่วโดยประการทั้งปวงได้แล้ว ก็เป็นอันได้ชื่อว่าว่าง ออก ดับ เย็น เป็นอันถึงพระนิพพาน สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์จึงตรัสว่า นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่าพระนิพพานเป็นธรรมอย่างยิ่ง เมื่อว่างก็ว่างอย่างยิ่ง เมื่อดับก็ดับอย่างยิ่ง ดับแล้วไม่เกิดอีก เมื่อเย็นก็เย็นอย่างยิ่ง ไม่กลับร้อนอีก เมื่อหยุดก็หยุดอย่างยิ่ง ไม่กลับทำความชั่วอีก พระนิพพานจึงเป็นธรรมอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา ฯ

ทางดำเนินเพื่อให้ถึงว่าง ออก ดับ เย็น หยุด ก็ไม่พ้นจากศีล สมาธิ ปัญญา เพราะศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อกระจายออกโดยละเอียด ก็เป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ในอริยมรรคมีองค์แปดประการนั้น องค์ที่สำคัญที่สุดก็คือความเห็นชอบ มีเรี่ยวแรง มีแรงส่ง ให้ถึงพระนิพพาน เพราะเมื่อเห็นชอบแล้ว อะไรๆ ก็ชอบไปหมด ตรงกันข้าม ถ้าเห็นผิดเสียอย่างเดียวแล้ว ก็ผิดหมดเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นจงพร้อมใจกันบำเพ็ญศีล สมาธิ และปัญญาเถิด ทำศีลให้เป็นอธิศีล คือเป็นศีลยิ่ง ให้ศีลดียิ่งกว่าอะไรหมด กิเลสชั้นหยาบที่เป็นทุจริตก็ดับ เมื่อทำสมาธิให้เป็นการตั้งจิตไว้มั่นชอบยิ่ง อย่าตั้งอย่างอื่นไว้ให้ยิ่งกว่าสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิ กิเลสชั้นกลางที่ทำให้กลุ้มใจร้อนใจก็ดับ เมื่อมีปัญญาเป็นอธิปัญญายิ่ง กิเลสชั้นละเอียดก็ดับ เป็นอันว่าง ออก ดับ เย็น หยุด ถึงที่สุด ฯ

ถ้าจะใช้ปฏิบัติโดยวิธีลัดให้ได้ผลเร็ว ก็ให้คอยสังเกตที่ใจ เมื่อเรื่องที่จะก่อความร้อนใจจะเกิด หรือกำลังจะเกิด ก็ให้ตั้งสติกำหนดที่ใจ ปล่อยวางอารมณ์อื่นเสียแล้ว ภาวนานึกกลับไปกลับมาซ้ำๆ บ่อยๆ ว่า ว่าง ออก ดับ เย็น หยุด ฯ จนเรื่องนั้นสงบไป ก็ได้ชื่อว่านิพพานชั่วคราวหนึ่ง เมื่อจะเกิดขึ้นอีก ก็ให้ปฏิบัติโดยวิธีนี้อีก เรื่องร้อนใจก็จะดับไป อาการที่ใจไม่มีกิเลสเครื่องเศร้าหมองใจนี้แล เรียกว่าพระนิพพานในพระพุทธศาสนา นิพพานมีอรรถว่า ว่าง ออก ดับ เย็น หยุด มีอรรถาธิบายดังบรรยายมา ด้วยประการฉะนี้. ฯ

เอวํก็มี ด้วยประการฉะนี้ ฯ

พิมพ์ที่ บริษัท ประชาชน จำกัด (แผนกพิมพ์) ๓๕ ซอยพิพัฒน์ ถนนสีลม พระนคร

นายทรงเกียรติ์ เมณฑกา : ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ๒๕๐๖

———-

คัดลอกเสร็จ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๒

เวลา ๒๐:๕๙

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *