สังกัสสะ (บาลีวันละคำ 2,679)
สังกัสสะ
เมืองสำคัญในพุทธประวัติ
อ่านว่า สัง-กัด-สะ
“สังกัสสะ” เป็นชื่อเมืองในชมพูทวีปสมัยพุทธกาล เป็นชื่อที่ชาวพุทธรู้จักควบคู่มากับคำว่า “เทโวโรหณะ” (ที่มาเรียกกันย่อๆ ว่า “ตักบาตรเทโว”) ในฐานะเป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากเทวโลกลงมาที่เมืองนี้
คำว่า “สังกัสสะ” เขียนแบบบาลีเป็น “สงฺกสฺส” อ่านว่า สัง-กัด-สะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค ในที่นี้ใช้แทนคำว่า “สมฺมา” = โดยชอบ, โดยดีงาม) + กาสฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + อะ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ (สํ > สงฺ), ซ้อน สฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย (กาสฺ + สฺ + อะ), รัสสะ อา ที่ กา-(สฺ) เป็น อะ (กาสฺ > กส)
: สํ + กาสฺ = สํกาสฺ + สฺ + อ = สํกาสฺส > สงฺกาสฺส > สงฺกสฺส (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เมืองเป็นที่เจริญรุ่งเรืองดี”
เมือง “สังกัสสะ” เป็น 1 ใน 3 เมืองที่มักถูกเอ่ยถึงควบคู่กันไป คือ เมืองโสเรยยะ เมืองสังกัสสะ และเมืองกัณณกุชชะ
ในคัมภีร์ระบุว่า เมืองสังกัสสะอยู่ห่างจากกรุงสาวัตถีประมาณ 30 โยชน์
ปัจจุบัน เมืองสังกัสสะเป็นที่ตั้งหมู่บ้านสังกิสสะ พาสันตปุระ (Sankissa Basantapura) ในจังหวัดฟารุกาหบาท (Farrukhabad) รัฐอุตรประเทศ ประเทศอินเดีย
ผู้สนใจ-โดยเฉพาะนักเรียนบาลี-ควรศึกษาสืบค้นรายละเอียดของเมืองสังกัสสะต่อไป
…………..
ในคัมภีร์กล่าวไว้ว่า ในพรรษาที่ 7 นับแต่ตรัสรู้ พระพุทธองค์ทรงจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในวันออกพรรษาจึงเสด็จคืนสู่โลกมนุษย์ สถานที่เสด็จลงมาคือเมืองสังกัสสะ
พึงสดับสำนวนบรรยายในคัมภีร์เพื่อเจริญศรัทธาในโอกาสบำเพ็ญบุญกิริยาพิเศษ “ตักบาตรเทโว” ดังนี้
…………..
… พระศาสดาเสด็จจำพรรษาปวารณาแล้วตรัสบอกแก่ท้าวสักกะว่า มหาบพิตร อาตมภาพจักไปสู่ถิ่นมนุษย์
ท้าวสักกะทรงนิรมิตบันได 3 ชนิด คือ บันไดทองคำ บันไดแก้วมณี บันไดเงิน เชิงบันไดตั้งอยู่แทบประตูสังกัสสนคร หัวบันไดอยู่ที่ยอดเขาสิเนรุ
บันไดทองอยู่เบื้องขวาเพื่อพวกเทวดา, บันไดเงินอยู่เบื้องซ้ายเพื่อมหาพรหมทั้งหลาย, บันไดแก้วมณีอยู่ท่ามกลางเพื่อพระตถาคต
พระศาสดาประทับยืนอยู่บนยอดเขาสิเนรุ ทรงทำยมกปาฏิหาริย์ในกาลที่เสด็จลงจากเทวโลก
เมื่อทรงแลดูเบื้องบน สถานที่อันพระองค์ทรงแลดูนั้นก็แลเห็นโล่งตลอดจนถึงพรหมโลก
ทรงแลดูเบื้องล่าง สถานที่อันพระองค์ทรงแลดูนั้นก็แลเห็นโล่งตลอดจนถึงอเวจี
ทรงแลดูทิศใหญ่และทิศเฉียงทั้งหลาย ก็แลเห็นโล่งตลอดไปทั่วแสนจักรวาล
เทวดาเห็นพวกมนุษย์ แม้พวกมนุษย์ก็เห็นพวกเทวดา ต่างเห็นกันและดุจว่าอยู่ตรงหน้าทีเดียว
มนุษย์ที่มาชุมนุมกันโดยรอบประมาณ 36 โยชน์ เมื่อได้เห็นพระพุทธสิริโสภาคย์ในวันนั้นแล้ว ที่จะไม่ปรารถนาพุทธภูมินั้นมิได้มีแม้แต่คนเดียว
ที่มา: ยมกปาฏิหาริยวัตถุ ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 6
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เมืองไม่มีชีวิตยังมีชื่อติดอยู่ในประวัติศาสตร์
: เกิดเป็นคน ถ้าฉลาด ก็ควรฝากชื่อไว้ให้โลกชม
—————
ภาพประกอบ: จาก google
(ต้องการคำบรรยายรายละเอียด)
#บาลีวันละคำ (2,679)
13-10-62