บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง นิพพานกถา

นิพพานกถา ๐๓ : นิพพาน-ออก

—————————–

นิพฺพานกถา

พระธรรมปาโมกข์ (วิน ป.๙)

วัดราชผาติการาม พระนคร เรียบเรียง

พ.ศ.๒๕๐๖

…………………………..

(ปรับบรรทัด จัดวรรคตอนใหม่เพื่อให้อ่านง่าย

คงสำนวนไว้ตามต้นฉบับ)

…………………………..

นิพพานที่แปลว่าออกนั้น คือออกจากเครื่องร้อยรัด ดังคำวิเคราะห์ศัพท์ว่า

นิกฺขนฺตํ วานโต นตฺถิ วา เอตฺถ วานํ อิมสฺมึ วา อธิคเต วานสฺส อภาโวติ นิพฺพานํ

ที่ชื่อว่านิพพาน เพราะออกจากเครื่องร้อยรัดใจ เพราะเป็นที่ไม่มีเครื่องร้อยรัดใจ หรือเพราะเมื่อได้บรรลุนิพพานนี้แล้ว หมดเครื่องร้อยรัดใจ ฯ

เครื่องร้อยรัดใจก็คือกิเลสตัณหานั้นแล เช่นความที่ใจดิ้นรนเดือดร้อนรำคาญ ทะเยอทะยานอยากได้ อยากดี อยากมีอยากเป็น เป็นต้น

เมื่อเครื่องร้อยรัดมีอยู่ที่ใจก็ร้อยรัดในสิ่งที่เราอยากได้อยากมี เหมือนด้ายร้อยเย็บผ้าสองชิ้นให้ติดเป็นชิ้นเดียวกัน ฉะนั้น

เมื่ออาการของใจเป็นเช่นนี้ ใจก็ติด สลัดไม่ออก ไปไหนไม่ได้ ขืนไปก็เดือดร้อนคิดถึง

ที่จริงเครื่องร้อยรัดใจนี้เขามีความกรุณา เย็บร้อยหมู่ประชาเพียงหย่อนๆ ประหนึ่งว่าจะผ่อนหรือแก้ได้ง่าย แต่ครั้นจะแก้เข้าจริงไซร้ แก้ไม่ได้ดังใจ ดังพระพุทธภาษิตเทศนานัยว่า

เอตํ ทฬฺหํ พนฺธนมาหุ ธีรา

โอหารินํ สิถิลทุปฺปมุญฺจํ

นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวเครื่องผูกเครื่องร้อยรัดนั้น

อันผูกไว้หลวมๆ หย่อนๆ แต่แก้ยาก

ว่าเป็นเครื่องผูกเครื่องร้อยรัดอันมั่น ดังนี้ ฯ

นอกจากนั้น ท่านยังประพันธ์ไว้เป็นคำโคลง แสดงถึงเครื่องผูกว่าเป็นห่วง ดังปรากฏว่า

ปุตฺโต คีเว ……. มีบุตรบ่วงหนึ่งเกี้ยว ……. พันคอ

ธนํ ปาเท  …….. ทรัพย์ผูกบาทาคลอ …… หน่วงไว้

ภริยา หตฺเถ  ….. ภริยาเยี่ยงบ่วงปอ ……… รึงรัด มือนา

…………………. สามบ่วงใครพ้นได้ …….. จึ่งพ้นสงสาร ฯ

ที่ว่าอย่างนี้ มิได้หมายความว่า ให้เลิกให้ทิ้งเสียหมด เป็นแต่เพื่อให้เห็นว่า เครื่องผูกเหล่านี้ติดตรึงถึงใจ ไปไหนก็เป็นห่วง ออกไปไม่ได้

ไปวัดฟังเทศน์วันพระก็ไปไม่ได้ ติดไม่มีคนเฝ้าบ้าน

จะทำบุญสุนทานก็ติดขัดไม่มีเวลา

แต่ถ้าจะไปทำกิจที่จะเพิ่มความติดความร้อยรัด ไม่ขัดข้อง ไปได้ทำได้ ไม่มีใครห้ามปราม

ความติดความข้องเพราะเครื่องร้อยรัดนี้ ติดจนตัวตายก็มี มีตัวอย่างที่ได้รู้ได้เห็นอยู่ถมไป

ผู้ปฏิบัติพยายามทำใจให้ออกจากความติด ความพัวพันห่วงใย ให้ใจสบายปลอดโปร่งไม่ติดพัน ก็ชื่อว่าการปฏิบัตินั้นก้าวไปตรงสู่พระนิพพาน ฯ

(ยังมีต่อ)

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๒

๑๓:๕๔

———–

ภาพประกอบ หมายเลข 18-25

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *