บาลีวันละคำ

สังฆาธิการ (บาลีวันละคำ 1,443)

สังฆาธิการ

อ่านว่า สัง-คา-ทิ-กาน

ประกอบด้วย สังฆ + อธิการ

(๑) “สังฆ

บาลีเป็น “สงฺฆ” (สัง-คะ) รากศัพท์มาจาก สํ (พร้อมกัน, ร่วมกัน) + หนฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น , แปลง หนฺ เป็น

: สํ > สงฺ + หนฺ > : สงฺ + = สงฺฆ + = สงฺฆ แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “หมู่เป็นที่ไปรวมกันแห่งส่วนย่อยโดยไม่แปลกกัน” หมายความว่า ส่วนย่อยที่มีคุณสมบัติหลักๆ “ไม่แปลกกัน” คือมีคุณสมบัติตรงกัน เหมือนกัน ส่วนย่อยดังกล่าวนี้ไปอยู่รวมกัน คือเกาะกลุ่มกัน ดังนี้เรียกว่า “สงฺฆ

(2) “หมู่ที่รวมกันโดยมีความเห็นและศีลเสมอกัน” ความหมายนี้เล็งที่บรรพชิตหรือสาวกที่เป็นนักบวชในลัทธิศาสนาต่างๆ เช่นภิกษุในพระพุทธศาสนาเป็นต้น ต้องมีความคิดเห็นและความประพฤติลงรอยกันจึงจะรวมเป็น “สงฺฆ” อยู่ได้

สงฺฆ” จึงหมายถึง หมู่, กอง, กลุ่ม, คณะ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺฆ” เป็นอังกฤษว่า –

(1) multitude, assemblage (ฝูงชน, ชุมนุมชน, หมู่, ฝูง)

(2) the Order, the priesthood, the clergy, the Buddhist church (คณะสงฆ์, พระ, นักบวช, พุทธจักร)

(3) a larger assemblage, a community (กลุ่มใหญ่, ประชาคม)

สงฺฆ” ปกติในภาษาไทยใช้ว่า “สงฆ์” ถ้าอยู่หน้าคำสมาสมักใช้เป็น “สังฆ-”

สงฆ์” ในภาษาไทย อาจหมายถึงภิกษุที่รวมกันเป็นหมู่คณะก็ได้ หมายถึงภิกษุแต่ละรูปก็ได้

(๒) “อธิการ

บาลีอ่านว่า อะ-ทิ-กา-ระ ประกอบด้วย อธิ + การ

1) “อธิ” (อะ-ทิ) เป็นคำอุปสรรค (คำที่ใช้ประกอบข้างหน้าคำนามหรือกริยาให้มีความหมายยักเยื้องออกไป) นักเรียนบาลีแปลกันว่า ยิ่ง, ใหญ่, ทับ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายไว้ว่า –

(1) บอกทิศทาง, จุดหมาย = จนถึง, เหนือ, ไปยัง, บน (up to, over, toward, to, on)

(2) บอกสถานที่ = บนยอด, ข้างบน, เหนือ, บน (on top of, above, over)

2) “การ” (กา-ระ) รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย, ลบ , ยืดเสียง อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา

: กรฺ + = กรณ > กร > การ แปลตามศัพท์ว่า “การทำ

การ” มีความหมายว่า –

(1) กรรม, การบริการ, การกระทำที่แสดงความเมตตา หรือความเคารพ หรือความนับถือ (deed, service, act of mercy or worship, homage)

(2) การกระทำ, กิริยาอาการ, วิธีทำ (doing, manner, way)

อธิ + การ = อธิการ แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำอันยิ่ง” หมายถึง การเอาใจใส่หรือติดตาม, การให้บริการ, การบริหาร, การดูแลควบคุม, การจัดการ, การช่วยเหลือ (attendance, service, administration, supervision, management, help)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อธิการ : (คำนาม) อำนาจ, การปกครอง, ความบังคับบัญชา; ตำแหน่ง, หน้าที่, กิจการ, ภาระ; สิทธิ, ความชอบธรรม; เรียกพระที่ดํารงตําแหน่งเจ้าอาวาสซึ่งไม่มีสมณศักดิ์อย่างอื่นว่า พระอธิการ, เรียกพระที่ดํารงตําแหน่งพระอุปัชฌาย์หรือเจ้าคณะตําบล ซึ่งไม่มีสมณศักดิ์อย่างอื่นว่า เจ้าอธิการ; ตําแหน่งสูงสุดของผู้บริหารในวิทยาลัย. (ป., ส.).”

สังฆ + อธิการ = สังฆาธิการ แปลว่า “ผู้บริหารจัดการในคณะสงฆ์

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต แปล “สังฆาธิการ” เป็นภาษาอังกฤษว่า an ecclesiastical official; eccl. administrative officer.

บางสำนักแปล “สังฆาธิการ” เป็นภาษาอังกฤษว่า Buddhist ecclesiastical official monk.

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สังฆาธิการ : (คำนาม) พระภิกษุผู้ดํารงตําแหน่งปกครองคณะสงฆ์นับตั้งแต่ตําแหน่งเจ้าคณะภาคลงมาจนถึงตําแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาส เรียกว่า พระสังฆาธิการ.”

……….

หนังสือ คู่มือการปฏิบัติงานนิตยภัต จัดทำโดย ส่วนกิจการคณะสงฆ์ สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม, พิมพ์ปี 2555 หน้า 8 บอกไว้ว่า –

“คำว่า พระสังฆาธิการ หมายถึง พระภิกษุผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์ ในตำแหน่งดังต่อไปนี้ คือ เจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะตำบล เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส และผู้ช่วยเจ้าอาวาส”

……….

: ถ้าไม่มีพระธรรมวินัยเป็นเครื่องกำกับ

: พระสังฆาธิการทุกระดับก็ไม่มีความหมาย

14-5-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย