อกตญฺญู (บาลีวันละคำ 73)
อกตญฺญู
อ่านว่า อะ-กะ-ตัน-ยู
ในภาษาไทยเขียน “อกตัญญู” อ่านเหมือนบาลี
เป็นคำที่เราคุ้นในภาษาไทย แต่ที่อาจจะไม่คุ้นก็คือ คำนี้มีความหมายทั้งในทางเสีย และในทางดี
ความหมายในทางเสียซึ่งเราคุ้นกัน ก็คือ อกตัญญู แปลว่า “ผู้ไม่รู้อุปการคุณที่ท่านทําแก่ตน”
ความหมายนี้ แยกศัพท์ออกเป็น –
น (= อ) แปลว่า “ไม่, ไม่ใช่ (= no, not) +
กต แปลว่า “อุปการะที่ผู้อื่นทำแล้ว” +
ญา (ธาตุ) แปลว่า “รู้” +
รู (= อู, เป็นวิภัตติปัจจัย)
แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไม่รู้อุปการะอันเขาทำแล้ว”
ความหมายในทางดี ซึ่งเราไม่คุ้น ก็คือ อกตัญญู แปลว่า “ผู้รู้จักพระนิพพาน”
ความหมายนี้ แยกศัพท์ออกเป็น –
อกต แปลว่า “สภาวะที่ไม่มีอะไรมาทำให้เป็นอะไร” ซึ่งเป็นชื่อหนึ่งของพระนิพพาน +
ญา (ธาตุ) แปลว่า “รู้” +
รู (= อู, เป็นวิภัตติปัจจัย)
แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้จักสภาวะที่ไม่มีอะไรมาทำให้เป็นอะไร” ซึ่งหมายถึงผู้รู้จักพระนิพพาน คือผู้บรรลุนิพพานแล้ว
บาลีคำนี้สอนให้รู้ว่า อย่ามองอะไรมุมเดียว – แม้แต่ภาษา
บาลีวันละคำ (73)
18-7-55
อกตญฺญู ๑ = ผู้รู้พระนิพพาน (ศัพท์วิเคราะห์)
อกตํ ชานาตีติ อกตญฺญู ผู้รู้ซึ่งภาวะอันปัจจัยอะไรๆ ทำไม่ได้แล้ว
อกต บทหน้า ญา ธาตุ ในความหมายว่ารู้ รู ปัจจัย ซ้อน ญฺ ลบสระที่สุดธาตุ และ รฺ
อกตญฺญู ๒ = คนอกตัญญู, ผู้ไม่รู้คุณคน (ศัพท์วิเคราะห์)
น กตํ อุปการํ ชานาตีติ ผู้ไม่รู้อุปการะอันเขาทำแล้ว
น + กต บทหน้า ญา ธาตุ ในความหมายว่ารู้ รู ปัจจัย ซ้อน ญฺ ลบสระที่สุดธาตุ และ รฺ
อกตัญญู
[อะกะตัน-] น. ผู้ไม่รู้อุปการคุณที่ท่านทําแก่ตน. (ป.).
กตัญญุตา (ประมวลศัพท์)
ความเป็นคนกตัญญู, ความเป็นผู้รู้คุณท่าน
กตัญญูกตเวทิตา
ความเป็นคนกตัญญูกตเวที