อุเปกฺขา (บาลีวันละคำ 75)
อุเปกฺขา
อ่านว่า อุ-เปก-ขา
ใช้ในภาไทยว่า “อุเบกขา” (อุ-เบก-ขา)
อุเบกขา มีความหมาย 2 นัย คือ
1 กิริยาที่เสวยอารมณ์ไม่สุขไม่ทุกข์ / ไม่ชอบไม่ชัง = วางอารมณ์เป็นกลาง
ความหมายนี้ อุเบกขา มาจากศัพท์ว่า อุป + อิกฺขา = อุเปกฺขา
อุป แปลว่า “ใกล้” หมายถึง “ใกล้ทั้งสุขใกล้ทั้งทุกข์” = อยู่ตรงกลางระหว่างสุขกับทุกข์ หรือระหว่างชอบกับชัง = เฉยๆ
อิกฺขา แปลว่า “กิน,เสวย”
2 กิริยาที่เข้าไปดู หรือดูใกล้ๆ หรือเพ่งดู
เมื่อดูใกล้ หรือเพ่งดู ก็จะเห็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ต่อจากนั้นก็จะรู้ว่าควรทำอะไร หรือไม่ควรทำอะไร = ความเที่ยงธรรม, ความวางตัวเป็นกลาง
ความหมายนี้ อุเบกขา มาจากศัพท์ว่า อุป + อิกฺข = อุเปกฺขา
อุป แปลว่า “เข้าไป, ใกล้” อิกฺข (ธาตุ) แปลว่า “ดู, เห็น”
สรุป
อุเบกขาตามนัยที่ 1 คือ ไม่ตกอยู่ในอำนาจของสุขหรือทุกข์ ชอบหรือชัง
อุเบกขาตามนัยที่ 2 คือ ไม่ตกอยู่ในอำนาจของความลำเอียง
อุเบกขา ไม่ได้แปลว่า วางเฉยแบบไม่ดูดำดูดี หรือแบบไม่รับผิดชอบ อย่างที่มักเข้าใจกัน
บาลีวันละคำ (75)
20-7-55
อุเบกขา
น. ความเที่ยงธรรม, ความวางตัวเป็นกลาง, ความวางใจเฉยอยู่, เป็นข้อ ๑ ในพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา. (ป. อุเปกฺขา).
อุเบกขา
1. ความวางใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยชอบหรือชัง, ความวางใจเฉยได้ ไม่ยินดียินร้าย เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาเห็นผลอันเกิดขึ้นโดยสมควรแก่เหตุ และรู้ว่าพึงปฏิบัติต่อไปตามธรรม หรือตามควรแก่เหตุนั้น, ความรู้จักวางใจเฉยดู เมื่อเห็นเขารับผิดชอบตนเองได้ หรือในเมื่อเขาควรต้องได้รับผลอันสมควรแก่ความรับผิดชอบของเขาเอง, ความวางทีเฉยคอยดูอยู่ในเมื่อคนนั้นๆ สิ่งนั้นๆ ดำรงอยู่หรือดำเนินไปตามควรของเขาตามควรของมัน ไม่เข้าข้างไม่ตกเป็นฝักฝ่าย ไม่สอดแส่ ไม่จู้จี้สาระแน ไม่ก้าวก่ายแทรกแซง (ข้อ ๔ ในพรหมวิหาร ๔, ข้อ ๗ ในโพชฌงค์ ๗, ข้อ ๑๐ ในบารมี ๑๐, ข้อ ๙ ในวิปัสสนูปกิเลส ๑๐)
2. ความรู้สึกเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ เรียกเต็มว่า อุเบกขาเวทนา (= อทุกขมสุข); (ข้อ ๓ ในเวทนา ๓)