บาลีวันละคำ

นาค (บาลีวันละคำ 76)

นาค

บาลีอ่านว่า นา-คะ

ใช้ในภาษาไทย อ่านว่า นาก

คำว่า “นาค” มีความหมายหลายอย่าง ดังนี้ –

1. งูใหญ่มีหงอน ที่เรามักเรียกกันว่า “พญานาค” ภาษาบาลีว่า นาคราชา (นา-คะ-รา-ชา) เป็นความหมายที่เราคุ้นกันมากที่สุด

2. “สัตว์ที่มองเห็นเป็นเหมือนภูเขา” = ช้าง หมายถึงช้างที่ฝึกหัดเป็นอย่างดีแล้ว เช่นช้างศึก

3. “ต้นไม้ที่ไปไหนไม่ได้” = ไม้กากะทิง (ใบและผลคล้ายสารภี แต่ใบขึ้นสันมากและผลกลมกว่า เปลือกเมล็ดแข็ง ใช้ทําลูกฉลากหรือกระบวยของเล่น, สารภีทะเล หรือ กระทึง ก็เรียก)

4. “ผู้ไม่มีผู้ที่เลิศกว่า” = ผู้เลิศ, พระอรหันต์

5. “ผู้ไม่ทำบาปกรรม, ผู้ไม่มีบาป” = ผู้มุ่งจะบวช

การเรียกคนที่ไปอยู่วัดเตรียมตัวจะบวชหรือกําลังจะบวชว่า “นาค” มีมูลเหตุมาจากในเวลาทำพิธีบวช จะต้องระบุชื่อผู้บวชเป็นภาษาบาลี (ที่เรียกว่า “ฉายา” – ดูคำนี้) ในยุคแรกๆ มักสมมุติชื่อผู้บวชว่า “นาโค” ทุกคน (ปัจจุบันตั้งฉายาต่างกันออกไปเหมือนตั้งชื่อ)

คำว่า “นาโค = นาค” จึงเรียกกันติดปาก ใครจะบวชก็เรียกกันว่า “นาค” มาจนทุกวันนี้

บาลีวันละคำ (76)

21-7-55

นาค ๑, นาค-

  [นาก, นากคะ-] น. งูใหญ่มีหงอน เป็นสัตว์ในนิยาย. (ป., ส.).

นาค ๒, นาคา ๑

  [นาก] น. ชื่อชนเผ่าหนึ่งอยู่ในบริเวณเทือกเขานาค ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย และทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศพม่า มีหลายสาขา เช่น อาโอนาค กูกินาค.

นาค ๓, นาค-

  [นาก, นากคะ-] (แบบ) น. ช้าง. (ป.).

นาค ๔

  [นาก] (แบบ) น. ไม้กากะทิง. (ป.).

นาค ๕

  [นาก] (แบบ) น. ผู้ประเสริฐ, ผู้ไม่ทําบาป; เรียกคนที่ไปอยู่วัดเตรียมตัวจะบวชหรือกําลังจะบวช. (ป., ส.).

(ศัพท์วิเคราะห์)

นโค ปพฺพโต โส วิย ทิสฺสตีติ นาโค สัตว์ที่มองเห็นเป็นเหมือนภูเขา (นค + ณ) = ช้าง

น คจฺฉตีติ นาโค ต้นไม้ที่ไปไหนไม่ได้ (น + คมุ ธาตุ + กฺวิ) = ไม้กากะทิง

นตฺถิ อคฺโค อสฺมาติ นาโค ผู้ไม่มีผู้ที่เลิศกว่า (น + อคฺค) = ผู้เลิศ, พระอรหันต์

น อาคุง ปาปกมฺมํ กโรตีติ นาโค ผู้ไม่ทำบาปกรรม (น + อาคุ + อ) = ผู้มุ่งจะบวช

นตฺถิ ตสฺส อฆนฺติ นาโค ผู้ไม่มีบาป (น + อฆ แปลง ฆ เป็น ค ลบสระหน้า ทีฆะสระหลัง) = ผู้มุ่งจะบวช

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย