อิตฺถี (บาลีวันละคำ 77)
อิตฺถี
อ่านว่า อิด-ถี
ภาษาไทยนิยมใช้ตามรูปภาษาสันสกฤต คือ “อิสตรี” (อิด-สัด-ตฺรี) หรือ “สตรี” (สัด-ตฺรี)
นักภาษาสันนิษฐานว่าคำว่า “สตรี” อาจมีรากศัพท์มาจาก “สาตุห” ฝรั่งแปลว่า uterus (มดลูก) หรือ “ศี” to sow or produce (หว่าน หรือ ผลิต)
“อิตฺถี” แปลตามรากศัพท์ ได้ดังนี้ –
1. “ผู้ปรารถนาชาย” (นเร อิจฺฉตีติ อิตฺถี)
2. “ผู้อันชายปรารถนา” (นเรหิ อิจฺฉิยตีติ อิตฺถี)
3. “ผู้ทำให้ชายปรารถนา” (นเร อิจฺฉาเปตีติ อิตฺถี)
รากศัพท์คือ อิสฺ (ธาตุ = ปรารถนา, ชอบใจ) + ตฺถี (ปัจจัย) = อิตฺถี
ผู้ใด
ไม่ปรารถนาชาย 1
ชายไม่ปรารถนา 1
ไม่ทำให้ชายปรารถนา 1
ผู้นั้น ท่านว่ามิใช่ “อิตถี” ดังนี้แล
บาลีวันละคำ (77)
22-7-55
อิตถี
[อิดถี] น. หญิง. (ป.; ส. สฺตฺรี).
อิสตรี, อิสัตรี
[อิดสัดตฺรี] น. หญิง
สตรี
[สัดตฺรี] น. ผู้หญิง, เพศหญิง, คู่กับ บุรุษ, (ใช้ในลักษณะที่สุภาพ). (ส.; ป. อิตฺถี, ถี).