บาลีวันละคำ

มคฺคนายก (บาลีวันละคำ 81)

มคฺคนายก

อ่านว่า มัก-คะ-นา-ยะ-กะ

ใช้ในภาษาไทยว่า “มรรคนายก” (มัก-คะ-นา-ยก)

ประกอบด้วยศัพท์ว่า มคฺค ( = ทาง) + นายก ( = ผู้นำ) = มคฺคนายก แปลตามตัวว่า “ผู้นําทาง

มรรคนายก” มีความหมายเฉพาะว่า ผู้แนะนำจัดแจงในเรื่องทางบุญทางกุศล และเป็นหัวหน้านำชุมชนฝ่ายคฤหัสถ์ในศาสนพิธี ตามปกติทำหน้าที่ประจำอยู่กับวัดใดวัดหนึ่ง เรียกว่าเป็นมรรคนายกของวัดนั้นๆ

คำนี้มักใช้ผิดเป็น “มรรคทายก” (มัก-คะ-ทา-ยก) แปลว่า “ผู้ให้ทาง” ซึ่งไม่ใช่ความหมายที่ถูกต้อง (ไม่มีคำที่ใช้ในความหมายเช่นนี้)

อาจเป็นเพราะ (1) เสียง “นายก” กับ “ทายก” ฟังดูคล้ายกัน (2) มีคำว่า “ทายก” ที่แปลว่า “ผู้ให้” หมายถึงผู้ถวายจตุปัจจัยแก่ภิกษุสามเณร (ถ้าเป็นเพศหญิงเรียกว่า “ทายิกา” มักพูดควบกันว่า “ทายกทายิกา”) ซึ่งอยู่ในแวดวงบุญกุศลเหมือนกัน จึงชวนให้เข้าใจว่า “มรรคนายก” กับ “มรรคทายก” มีความหมายเหมือนกัน

ในทางภาษา ใช้ว่า “มรรคนายกผู้นำทาง” ไม่ใช่ “มรรคทายกผู้ให้ทาง

แต่ในทางปฏิบัติ ถ้า “นำทาง” ดีๆ ก็เท่ากับ “ให้ทาง” ที่ดีได้เหมือนกัน

บาลีวันละคำ (81)

26-7-55

มรรคนายก

  [มักคะนายก] น. “ผู้นําทาง” คือ ผู้จัดการทางกุศล หรือ ผู้ชี้แจงทางบุญทางกุศลและป่าวประกาศให้ประชาชนมาทำบุญทำกุศลในวัด. (ส. มารฺค + นายก).

มรรคนายก (ประมวลศัพท์)

“ผู้นำทาง”, ผู้แนะนำจัดแจงในเรื่องทางบุญทางกุศล และเป็นหัวหน้านำชุมชนฝ่ายคฤหัสถ์ในศาสนพิธี ตามปกติทำหน้าที่ประจำอยู่กับวัดใดวัดหนึ่ง เรียกว่าเป็นมรรคนายกของวัดนั้นๆ, ผู้นำทางบุญของเหล่าสัปบุรุษ

ทายก

  [-ยก] น. ผู้ถวายจตุปัจจัยแก่ภิกษุสามเณร, ถ้าเป็นเพศหญิงเรียกว่า ทายิกา. (ป., ส.).

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย