บาลีวันละคำ

มํสวิรติ (บาลีวันละคำ 80)

มํสวิรติ

อ่านว่า มัง-สะ-วิ-ระ-ติ

คำนี้ประสมขึ้นจากศัพท์ว่า มํส (= เนื้อสัตว์) + วิรติ (= การงดเว้น)

เขียนในภาษาไทยว่า “มังสวิรัติ” (มัง-สะ-วิ-รัด)

มังสวิรัติ หมายถึงการงดเว้นกินเนื้อสัตว์ และเป็นคำเรียกอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ มีแต่พืชผัก ว่า อาหารมังสวิรัติ

คำว่า “มํสวิรติ” ไม่ปรากฏในพระไตรปิฎก เป็นคำที่บัญญัติขึ้นใหม่ เกิดจากคติความเชื่อว่า กินเนื้อสัตว์เป็นบาป แล้วเพิ่มเหตุผลอีกว่า กินเนื้อสัตว์มีโทษต่อร่างกาย กินพืชผักมีผลดีต่อร่างกาย

พระพุทธศาสนาเถรวาทไม่มีข้อห้ามกินเนื้อสัตว์ แต่มีข้อจำกัด 3 ข้อ คือ (1) ไม่เห็น – (2) ไม่รู้ – (3) ไม่ระแวง – ว่า “สัตว์นั้นถูกฆ่าสำหรับตนโดยเฉพาะ”

ปัญหา : เนื้อสัตว์ที่ขายในตลาด เข้าข่ายข้อจำกัดทั้ง 3 ข้อ หรือไม่ ?

ข้อคิด : มังสวิรัติ ดี, แต่การรังเกียจหรือดูถูกดูหมิ่นคนที่กินเนื้อสัตว์ ไม่ดี

บาลีวันละคำ (80)

25-7-55

มังสวิรัติ

  น. การงดเว้นกินเนื้อสัตว์, เรียกอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ มีแต่พืชผัก ว่า อาหารมังสวิรัติ.

มังสวิรัติ

การงดเว้นกินเนื้อสัตว์ (เป็นคำบัญญัติภายหลัง)

อุทิสสมังสะ เนื้อที่ห้ามภิกษุฉัน

ปวัตตมังสะ

เนื้อที่มีอยู่แล้ว คือเนื้อสัตว์ที่เขาขายอยู่ตามปกติสำหรับคนทั่วๆ ไป ไม่ใช่ฆ่าเพื่อเอาเนื้อมาถวายพระ; ตรงข้ามกับ อุทิสสมังสะ

อุทิศ

เฉพาะ, เจาะจง, เพ่งเล็งถึง, ทำเพื่อ, หมายใจต่อ, มุ่งให้แก่, มุ่งไปยัง, มุ่งไปที่ (ดังตัวอย่างในประโยคต่างๆ ว่า “เขาออกบวชอุทิศพระพุทธเจ้า”, “เธอให้ทานอุทิศหมู่ญาติ”, “พระเถระเดินทางไกลจากเมืองสาวัตถีอุทิศหมู่บ้านนั้น”, “นายวาณิชลงเรือออกมหาสมุทรอุทิศสุวรรณภูมิ”); ในภาษาไทย มักใช้ในความหมายที่สัมพันธ์กับประเพณีการทำบุญเพื่อผู้ล่วงลับ หมายถึง ตั้งใจทำการกุศลนั้นโดยมุ่งให้เกิดผลแก่ผู้ตายที่ตนนึกถึง

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย