บาลีวันละคำ

จุติ (บาลีวันละคำ 82)

จุติ

อ่านว่า จุ-ติ

ใช้ในภาษาไทยเหมือนบาลี อ่านว่า จุ-ติ และ จุด-ติ

ศัพท์นี้ประกอบขึ้นจาก จวฺ (ธาตุ = เคลื่อน) + ติ (ปัจจัย) = จุติ

กระบวนการทางไวยากรณ์ คือ แปลง จวฺ เป็น จุ หรือแปลง อะ ที่ เป็น อุ ( = จุ) ลบ วฺ ที่สุดธาตุ

จุติ” ในภาษาบาลีเป็นคำนาม แปลตามศัพท์ว่า “การเคลื่อน” ในภาษาไทยใช้เป็นคำกริยา แปลว่า “เคลื่อน” หมายถึงเปลี่ยนสภาพจากกำเนิดหนึ่งไปเป็นอีกกำเนิดหนึ่ง หรือจากภพหนึ่งไปสู่ภพอื่น

ในภาษาไทย “จุติ” มักใช้กับเทวดา เช่นพูดว่า “เทวดาจุติลงมาเกิดเป็นมนุษย์” ไม่นิยมพูดว่า “มนุษย์จุติไปเกิดเป็นเทวดา” แต่ในภาษาบาลีใช้ได้ทุกภพภูมิ

คำนี้ มักเข้าใจผิดและใช้กันผิดๆ ว่า “เกิด

จุติ” ไม่ได้แปลว่า “เกิด” แต่แปลว่า “เคลื่อน” ซึ่งก็หมายถึง  “ตาย” นั่นเอง

ภาษาไม่มีชีวิตยังเปลี่ยนความหมาย นับประสาอะไรกับคนมีชีวิตจะไม่เปลี่ยนใจ

บาลีวันละคำ (82)

29-7-55

จุติ

  [จุ-ติ, จุดติ] ก. เคลื่อน, เปลี่ยนสภาพจากกำเนิดหนึ่งไปเป็นอีกกำเนิดหนึ่ง, (มักใช้แก่เทวดา). (ป.; ส. จฺยุติ).

จุติ

 “เคลื่อน” (จากภพหนึ่ง ไปสู่ภพอื่น), ตาย (ในภาษาบาลี ใช้ได้ทั่วไป แต่ในภาษาไทยส่วนมากใช้แก่เทวดา); ในภาษาไทย บางทีเข้าใจและใช้กันผิดไปไกล ถึงกับเพี้ยนเป็นว่า เกิด ก็มี

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย