บาลีวันละคำ

อริยปุคฺคล (บาลีวันละคำ 85)

อริยปุคฺคล

อ่านว่า อะ-ริ-ยะ-ปุก-คะ-ละ

ใช้ในภาษาไทยว่า “อริยบุคคล” (อะ-ริ-ยะ-บุก-คน)

ประกอบด้วยคำว่า อริย (เจริญ, ประเสริฐ, ผู้ไกลจากข้าศึกคือกิเลส) + ปุคฺคล (บุคคล, คน) = อริยปุคฺคล

“อริยบุคคล” แปลว่า “คนผู้เป็นอริยะ” หมายถึงท่านผู้ปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุมรรคผลพ้นจากสภาวะปุถุชน

อริยบุคคลแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ

1 พระโสดาบัน แปลว่า “ผู้เข้าถึงกระแสธรรม” แต่ยังไม่หมดกิเลส จะเกิดอีกไม่เกิน 7 ชาติ

2 พระสกทาคามี (หรือสกิทาคามี) แปลว่า “ผู้จะหวนมาอีกครั้งเดียว”

3 พระอนาคามี แปลว่า “ผู้ไม่มา (เกิดเป็นมนุษย์)”

4 พระอรหันต์ แปลว่า “ผู้ไม่มีกิเลส” ไม่เกิดในภพภูมิใดๆ อีก

อริยบุคคลระดับ โสดาบัน ถึง อนาคามี ยังไม่หมดกิเลส แต่เบาบางไปตามลำดับ ยังครองเพศฆราวาสอยู่ก็ได้ อริยบุคคลระดับพระอรหันต์ หมดกิเลสสิ้นเชิง ต้องครองเพศบรรพชิตเท่านั้น ฆราวาสที่บรรลุธรรมระดับอรหันต์ ต้องบวช ถ้าไม่บวชจะนิพพานภายในวันนั้น

ใครเป็นพระอริยบุคคลระดับไหน ผู้เป็นอริยบุคคลระดับเดียวกันหรือสูงกว่าเท่านั้นจึงจะรู้ได้บอกได้

เพราะฉะนั้น ใครที่ชอบพูดว่า หลวงปู่องค์นั้นหลวงพ่อองค์โน้นเป็น “อริยสงฆ์” ก็เท่ากับบอกว่าตัวผู้พูดนั้นก็เป็นอริยบุคคลด้วยนั่นเอง

บาลีวันละคำ (85)

1-8-55

อริยะ

เจริญ, ประเสริฐ, ผู้ไกลจากข้าศึกคือกิเลส, บุคคลผู้บรรลุธรรมวิเศษ มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น; ดู อริยบุคคล

อริยบุคคล

บุคคลผู้เป็นอริยะ, ท่านผู้บรรลุธรรมวิเศษมีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น มี ๔ คือ

๑. พระโสดาบัน

๒. พระสกทาคามี (หรือสกิทาคามี)

๓. พระอนาคามี

๔. พระอรหันต์;

แบ่งพิสดารเป็น ๘ คือ พระผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค และพระผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลคู่ ๑, พระผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิมรรค และพระผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิผล คู่ ๑, พระผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิมรรค และพระผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิผล คู่ ๑, พระผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค และพระผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตผล คู่ ๑

สังโยชน์

กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์, ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์ มี ๑๐ อย่าง คือ

ก. โอรัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ได้แก่

        ๑. สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวของตน

        ๒. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย

        ๓. สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลพรต

        ๔. กามราคะ ความติดใจในกามคุณ

        ๕. ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ

ข. อุทธัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องสูง ๕ ได้แก่

        ๖. รูปราคะ ความติดใจในรูปธรรมอันประณีต

        ๗. อรูปราคะ ความติดใจในอรูปธรรม

        ๘. มานะ ความถือว่าตัวเป็นนั่นเป็นนี่

        ๙. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน

        ๑๐. อวิชชา ความไม่รู้จริง;

พระโสดาบัน ละสังโยชน์ ๓ ข้อต้นได้, พระสกิทาคามี ทำสังโยชน์ข้อ ๔ และ ๕ ให้เบาบางลงด้วย, พระอนาคามี ละสังโยชน์ ๕ ข้อต้นได้หมด, พระอรหันต์ ละสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ข้อ;

        ในพระอภิธรรมท่านแสดงสังโยชน์อีกหมวดหนึ่ง คือ ๑. กามราคะ ๒. ปฏิฆะ ๓. มานะ ๔. ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) ๕. วิจิกิจฉา ๖. สีลัพพตปรามาส ๗. ภวราคะ (ความติดใจในภพ) ๘. อิสสา (ความริษยา) ๙. มัจฉริยะ (ความตระหนี่) ๑๐. อวิชชา

อริยบุคคล ๗

บุคคลผู้เป็นอริยะ, บุคคลผู้ประเสริฐ, ท่านผู้บรรลุธรรมวิเศษ มีโสดาปัตติมรรค เป็นต้น นัยหนึ่งจำแนกเป็น ๗ คือ สัทธานุสารี ธัมมานุสารี สัทธาวิมุต ทิฏฐิปปัตตะ กายสักขี ปัญญาวิมุต และ อุภโตภาควิมุต (ดูคำนั้นๆ)

อริย-, อริยะ

  [อะริยะ-] น. ในพระพุทธศาสนา เรียกบุคคลผู้บรรลุธรรมวิเศษ มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น ว่า พระอริยะ หรือ พระอริยบุคคล.ว. เป็นของพระอริยะ, เป็นชาติอริยะ; เจริญ, เด่น, ประเสริฐ.

อริยกะ

  [อะริยะ-] น. ชื่อชนชาติหนึ่ง ซึ่งเป็นต้นเค้าของชาวอินเดียบางพวก ชาวอิหร่าน และชาวยุโรปบางพวก, อารยัน ก็ว่า. (ป.).

อริยบุคคล

  น. บุคคลผู้บรรลุธรรมวิเศษ มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น. (ป. อริยปุคฺคล).

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย