วสฺสิกสาฏก (บาลีวันละคำ 86)
วสฺสิกสาฏก
อ่านว่า วัด-สิ-กะ-สา-ตะ-กะ
“วสฺสิก” แปลว่า “สำหรับฤดูฝน”
“สาฏก” แปลว่า “ผ้า”
วสฺสิก + สาฏก = วสฺสิกสาฏก แปลว่า “ผ้าสำหรับฤดูฝน” หมายถึง “ผ้าที่ใช้ผลัดนุ่งอาบน้ำฝน” เรียกสั้นๆ ว่า “ผ้าอาบน้ำฝน” หรือ “ผ้าอาบ”
ปัจจุบันมีประเพณีทายกทายิกาทำบุญถวายผ้าอาบน้ำฝนตามวัดต่างๆ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ หรือในวันเข้าพรรษา ตามวัตถุประสงค์เดิมคือเพื่อให้พระท่านใช้ผลัดนุ่งอาบน้ำในระหว่างเข้าพรรษา
มีผู้เข้าใจผิดเรียกผ้าอาบน้ำฝนว่า “ผ้าจำนำพรรษา” เมื่อผ้าชนิดนี้ (ที่เรียกผิด) ถวายก่อนเข้าพรรษา จึงเลยทำให้มีผู้เรียกเทียนที่ถวายก่อนเข้าพรรษาว่า “เทียนจำนำพรรษา” ไปด้วย
“จำนำ” แผลงมาจาก “จำ” “จำนำพรรษา” ก็คือ “จำพรรษา”
“ผ้าจำนำพรรษา” จึงหมายถึงผ้าที่ถวายแก่พระสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาครบสามเดือนแล้ว ก็คือผ้าที่ถวายหลังจากออกพรรษาแล้วแบบเดียวกับผ้ากฐินนั่นเอง
“เทียนจำนำพรรษา” ก็จึงต้องแปลว่า “เทียนที่ถวายหลังจากออกพรรษาแล้ว” ซึ่งไม่มีประเพณีที่ไหนถวายเทียนแบบนั้น
เทียนที่ถวายก่อนเข้าพรรษา ท่านเรียกกันมาแต่ไหนแต่ไรว่า “เทียนพรรษา” ไม่ใช่ “เทียนจำนำพรรษา” ที่เรียกผิดตาม “ผ้าจำนำพรรษา” และผ้าจำนำพรรษาก็เรียกผิดมาจาก “ผ้าอาบน้ำฝน” อีกต่อหนึ่ง
เตือนใจ : อย่าเรียกอะไรผิดๆ โดยไม่คิดให้รอบคอบ
บาลีวันละคำ (86)
2-8-55