บาลีวันละคำ

วาสนา (บาลีวันละคำ 84)

วาสนา

อ่านว่า วา-สะ-นา

ในภาษาไทยใช้เหมือนบาลี แต่อ่านว่า วาด-สะ-หนา

วาสนา” แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่อยู่ในจิต” “สิ่งอันเขาบ่มเพาะมา

ขยายความว่า กิริยาอาการหรือลักษณะการพูดจา ที่เป็นเอกลักษณ์พิเศษของบุคคล ซึ่งเกิดจากกิเลสบางอย่าง และได้สั่งสมอบรมมาเป็นเวลานานจนเคยชินติดเป็นพื้นนิสัยประจำตัว

ฝรั่งแปล “วาสนา” ว่า that which remains in the mind, tendencies of the past, impression (สิ่งที่เหลืออยู่ในใจ, แนวโน้มของอดีต, ความฝังใจหรือประทับใจ)

ในภาษาไทย ความหมายกลายไปเป็นว่า วาสนาคือบุญบารมี, กุศลที่ทําให้ได้รับลาภยศ, เช่น เด็กคนนี้มีวาสนาดี เกิดในกองเงินกองทอง, เป็นบุญวาสนาของเขา, เขาเป็นคนมีวาสนาบารมีมาก

วาสนา” ตามความหมายเดิม เป็นกิเลสอย่างหนึ่งที่ไม่พึงปรารถนา

แต่ “วาสนา” ในภาษาไทย กลายเป็นเรื่องดีที่พึงปรารถนา

: ภาษาก็เหมือนคน ยากที่จะรู้ธาตุแท้

บาลีวันละคำ (84)

31-7-55

วาสนา = วาสนา, อุปนิสัย, บุญบาปที่อบรมมา (สงฺขาร) (ศัพท์วิเคราะห์)

– จิตฺเต วสตีติ วาสนา สิ่งที่อยู่ในจิต

วสฺ ธาตุ ในความหมายว่าอยู่ ยุ ปัจจัย อา อิต., แปลง ยุ เป็น อน พฤทธิ์ อ เป็น อา

– วาสียเตติ วาสนา สิ่งอันเขาบ่มเพาะมา

วาส ธาตุ ในความหมายว่าอบ, บ่ม ยุ ปัจจัย อา อิต., แปลง ยุ เป็น อน

วาสนา (บาลี-อังกฤษ)

(อิต.) (จาก วสติ = วาส)

สิ่งที่เหลืออยู่ในใจ, แนวโน้มของอดีต, ความฝังใจหรือประทับใจ

that which remains in the mind, tendencies of the past, impression

วาสนา

  [วาดสะหฺนา] น. บุญบารมี, กุศลที่ทําให้ได้รับลาภยศ, เช่น เด็กคนนี้มีวาสนาดี เกิดในกองเงินกองทอง, มักใช้เข้าคู่กับคำ บุญ หรือ บารมี เป็น บุญวาสนา หรือ วาสนาบารมี เช่น เป็นบุญวาสนาของเขา เขาเป็นคนมีวาสนาบารมีมาก. (ป., ส.).

วาสนา

อาการกายวาจา ที่เป็นลักษณะพิเศษของบุคคล ซึ่งเกิดจากกิเลสบางอย่าง และได้สั่งสมอบรมมาเป็นเวลานานจนเคยชินติดเป็นพื้นประจำตัว แม้จะละกิเลสนั้นได้แล้ว แต่ก็อาจจะละอาการกายวาจาที่เคยชินไม่ได้ เช่น คำพูดติดปาก อาการเดินที่เร็วหรือเดินต้วมเตี้ยม เป็นต้น ท่านขยายความว่า วาสนา ที่เป็นกุศล ก็มี เป็นอกุศล ก็มี เป็นอัพยากฤต คือเป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว ก็มี ที่เป็นกุศลกับอัพยากฤตนั้น ไม่ต้องละ แต่ที่เป็นอกุศลซึ่งควรจะละนั้น แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนที่จะเป็นเหตุให้เข้าถึงอบายกับส่วนที่เป็นเหตุให้เกิดอาการแสดงออกทางกายวาจาแปลกๆ ต่างๆ ส่วนแรก พระอรหันต์ทุกองค์ละได้ แต่ส่วนหลัง พระพุทธเจ้าเท่านั้นละได้ พระอรหันต์อื่นละไม่ได้ จึงมีคำกล่าวว่า พระพุทธเจ้าเท่านั้นละกิเลสทั้งหมดได้พร้อมทั้งวาสนา; ในภาษาไทย คำว่า วาสนา มีความหมายเพี้ยนไป กลายเป็นอำนาจบุญเก่า หรือกุศลที่ทำให้ได้รับลาภยศ

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย