บาลีวันละคำ

มาน (บาลีวันละคำ 87)

มาน

อ่านว่า มา-นะ

แปลตามรากศัพท์ว่า “อาการที่ต้องการให้เขานับถือ” “อาการที่ถือตัว (ว่าดีกว่าเขาเป็นต้น)

มานะ มี 3 แบบ คือ –

1. มานะ  “เราเท่ากับเขา” = ถือตัวธรรมดา

2. อติมานะ  “เราดีกว่าเขา” = ดูหมิ่นคนอื่น

3. โอมานะ “เราเลวกว่าเขา” = ดูถูกตัวเอง

มานะ 3 แยกย่อยออกไปเป็น 9 คือ –

1. ดีกว่าเขา ถือตัวว่าดีกว่าเขา (อติมานะ)

2. ดีกว่าเขา ถือตัวว่าเสมอเขา (มานะ)

3. ดีกว่าเขา ถือตัวว่าเลวกว่าเขา (โอมานะ)

4. เสมอเขา ถือตัวว่าดีกว่าเขา (อติมานะ)

5. เสมอเขา ถือตัวว่าเสมอเขา (มานะ)

6. เสมอเขา ถือตัวว่าเลวกว่าเขา (โอมานะ)

7. เลวกว่าเขา ถือตัวว่าดีกว่าเขา (อติมานะ)

8. เลวกว่าเขา ถือตัวว่าเสมอเขา (มานะ)

9. เลวกว่าเขา ถือตัวว่าเลวกว่าเขา (โอมานะ)

ข้อ 1, 5, 9 เป็นการมองตรงกับที่เป็นจริง แต่ก็ยังเป็นการถือตัว เป็นกิเลสอย่างประณีต ซึ่งพระอรหันต์จึงละได้ ส่วนอีก 6 ข้อเป็นการถือตัวโดยมองไม่ตรงกับที่เป็นจริง เป็นกิเลสที่หยาบกว่า ขั้นพระโสดาบันก็ละหมดแล้ว

ในภาษาไทย “มานะ” มีความหมายเพี้ยนไปเป็น-ความพยายาม, ความตั้งใจจริง, ความพากเพียร เช่น มีมานะอดทน มีมานะในการทำงาน

มานะเป็นกิเลสที่ไม่ร้อนแรง แต่ซึมลึก พระอรหันต์เท่านั้นจึงละได้เด็ดขาด

บาลีวันละคำ (87)

3-8-55

มาน ๑ = ความถือตัว, ความสำคัญตน (วิธา ธุนฺนติ) (ศัพท์วิเคราะห์)

– มาเนตีติ มาโน อาการที่ให้เขาบูชา คือต้องการให้เขานับถือ

มาน ธาตุ ในความหมายว่า บูชา อ ปัจจัย

– เสยฺยาทิวเสน มญฺญตีติ มาโน อาการที่สำคัญตนว่าดีกว่าเขาเป็นต้น

มน ธาตุ ในความหมายว่ารู้ ณ ปัจจัย, พฤทธิ์ อ เป็น อา

– มานิยเต อเนนาติ มาโน อาการเป็นเหตุให้เขานับถือตน

มา ธาตุ ในความหมายว่านับถือ ยุ ปัจจัย แปลง ยุ เป็น อน

มาน ๒ = เครื่องนับ, เครื่องคำนวณ, ลูกคิด, เครื่องคิดเลข

มียเต ปริจฺฉินฺทียเต เอเตนาติ มานํ  อุปกรณ์เป็นเครื่องอันเขานับสิ่งของ คือใช้เป็นเครื่องนับ

มา ธาตุ ในความหมายว่านับ ยุ ปัจจัย แปลง ยุ เป็น อน

มานะ ๒

  น. ความพยายาม, ความตั้งใจจริง, ความพากเพียร, เช่น มีมานะอดทน มีมานะในการทำงาน; ความถือตัว. (ป.).

มานะ (ประมวลศัพท์)

1. ความถือตัว, ความสำคัญตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่, เป็นอุทธัมภาคิยสังโยชน์ คือ สังโยชน์เบื้องสูง พระอรหันต์จึงละได้ (ข้อ ๘ ในสังโยชน์ ๑๐, ข้อ ๓ ในสังโยชน์ ๑๐ ตามนัยพระอภิธรรม, ข้อ ๕ ในอนุสัย ๗, ข้อ ๑๓ ในอุปกิเลส ๑๖, ข้อ ๒ ในปปัญจะ ๓)

        มานะนี้ ในพระไตรปิฎกแสดงไว้มากหลายชุด มีตั้งแต่หมวด ๑ ถึงหมวด ๑๐, อย่างน้อยพึงทราบ มานะ ๓ ที่ตรัสไว้ด้วยกันกับ ตัณหา ๓ คือ

๑. มานะ ความถือตัวอยู่ภายใน โดยมีตัวตนที่ต้องคอยให้ความสำคัญ ที่จะพะนอจะบำเรอจะยกจะชูให้ปรากฏหรือให้เด่นขึ้นไว้ อันให้คำนึงที่จะแบ่งแยกเราเขา จะเทียบ จะแข่ง จะรู้สึกกระทบกระทั่ง

๒. อติมานะ ความถือตัวเกินล่วง โดยสำคัญตนหยาบรุนแรงขึ้นเป็นความยกตัวเหนือเขา ดูถูกดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่น

๓. โอมานะ ความถือตัวต่ำด้อย โดยเหยียดตัวลงเป็นความดูถูกดูหมิ่นตนเอง

        มานะชื่ออื่นที่ควรทราบ คือ อธิมานะ ความสำคัญตนเกินเป็นจริง ความสำคัญตนผิด เช่น ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบในระดับหนึ่ง ซึ่งที่แท้ยังเป็นปุถุชน แต่สำคัญตนเป็นพระอรหันต์หรือเป็นพระอริยะ, อัสมิมานะ ความถือตัว โดยมีความยึดมั่นสำคัญหมายในขันธ์ ๕ แม้อย่างใดอย่างหนึ่งว่าเป็นตน, มิจฉามานะ ความถือตัวผิด โดยหยิ่งผยองลำพองตนในความยึดถือหรือความสามารถในทางชั่วร้าย เช่น ภูมิใจว่าพูดเท็จเก่งใครๆ จับไม่ได้ ลำพองว่าสามารถใช้วิชาของตนในทางที่คนอื่นรู้ไม่ทันเพื่อหากินหรือกลั่นแกล้งรังแกคนอื่นได้, อวมานะ การถือตัวกดเขาลง ซึ่งแสดงออกภายนอก โดยอาการลบหลู่ ไม่ให้เกียรติ ทำให้อับอายขายหน้า ไม่แยแส ไร้อาทร เช่น ผู้มีกำลังอำนาจที่ทำการขู่ตะคอก ลูกที่เมินเฉยต่อพ่อแม่ เป็นคู่ตรงข้ามกับคำในฝ่ายดีคือ สัมมานะ อันได้แก่การนับถือ ยกย่อง ให้เกียรติแก่ผู้มีคุณความดีโดยเหมาะสมอย่างจริงใจ                     

        มานะเป็นกิเลสเด่นนำเนื่องกันและคู่กันกับตัณหา เป็นแรงขับดันให้ปุถุชนทำการต่างๆ ก่อความขัดแย้ง ปัญหาและทุกข์นานา แม้หากรู้จักใช้ จะปลุกเร้าให้เบนมาเพียรพยายามทำความดีได้ ก็แฝงปัญหาและไม่ปลอดทุกข์ จึงต้องมีการศึกษา เริ่มแต่ฝึกวินัยให้มีศีลที่จะควบคุมพฤติกรรมไว้ในขอบเขตแห่งความสงบเรียบร้อยไม่เบียดเบียนกัน แล้วพัฒนาจิตปัญญา ให้เจริญฉันทะขึ้นมาเป็นแรงขับเคลื่อนแทนที่ตัณหาและมานะ เมื่อปฏิบัติเช่นนี้ ถึงจะยังมีมานะอยู่อย่างละเอียดจนเป็นพระอนาคามี ก็จะแทบไม่มีโทษภัย จนกว่าจะพ้นจากมานะเป็นอิสระสิ้นเชิงเมื่อบรรลุอรหัตผล ซึ่งจะเป็นอยู่ด้วยปัญญาบริสุทธิ์สืบไป

2. ในภาษาไทย มานะมีความหมายเพี้ยนไปเป็นว่า เพียรพยายาม ขยันมุ่งมั่น เช่นในคำว่า มานะพากเพียร มุมานะ

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย