ธมฺมกาย (บาลีวันละคำ 117)
ธมฺมกาย
อ่านว่า ทำ-มะ-กา-ยะ
ในภาษาไทยใช้ว่า “ธรรมกาย” อ่านว่า ทำ-มะ-กาย
“ธมฺมกาย-ธรรมกาย” ประกอบด้วยคำว่า ธมฺม + กาย
(ดูความหมายเฉพาะคำที่คำนั้น)
ความหมายที่ถูกต้องของคำว่า “ธรรมกาย” ควรทำความเข้าใจตามคำอธิบายต่อไปนี้ –
1 “ธรรมกาย” หมายถึง “ผู้มีธรรมเป็นกาย” เป็นพระนามอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า (ตามความในอัคคัญญสูตร แห่งทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค) หมายความว่า พระองค์ทรงคิดพุทธพจน์คำสอนด้วยพระหทัยแล้วทรงนำออกเผยแพร่ด้วยพระวาจา เป็นเหตุให้พระองค์ก็คือพระธรรม เพราะทรงเป็นแหล่งที่ประมวลหรือที่ประชุมอยู่แห่งพระธรรมอันปรากฏเปิดเผยออกมาแก่ชาวโลก
2 “ธรรมกาย” หมายถึง “กองธรรม” หรือ “ชุมนุมแห่งธรรม” ธรรมกายย่อมเจริญงอกงามเติบขยายขึ้นได้โดยลำดับจนไพบูลย์ ในบุคคลผู้เมื่อได้สดับคำสอนของพระองค์แล้วฝึกอบรมตนด้วยไตรสิกขา เจริญมรรคาให้บรรลุภูมิแห่งอริยชน ดังตัวอย่างดำรัสของพระมหาปชาบดีโคตมี เมื่อครั้งกราบทูลลาพระพุทธเจ้าเพื่อปรินิพพาน ตามความในคัมภีร์อปทานตอนหนึ่งว่า –
“ข้าแต่พระสุคตเจ้า หม่อมฉันเป็นมารดาของพระองค์, ข้าแต่พระธีรเจ้า พระองค์ก็เป็นพระบิดาของหม่อมฉัน … รูปกายของพระองค์นี้ หม่อมฉันได้ทำให้เจริญเติบโต ส่วนธรรมกายอันเป็นที่เอิบสุขของหม่อมฉัน ก็เป็นสิ่งอันพระองค์ได้ทำให้เจริญเติบโต”
“ธรรมกาย” ในความหมายหลังนี้ ก็คือโลกุตรธรรม 9 หรืออริยสัจ
“ธรรมกาย” ที่มีความหมายต่างไปจากนี้ย่อมไม่ใช่ธรรมกายในพระพุทธศาสนาเถรวาท
บาลีวันละคำ (117)
2-9-55
ธรรมกาย
1. “ผู้มีธรรมเป็นกาย” เป็นพระนามอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า (ตามความในอัคคัญญสูตร แห่งทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค) หมายความว่า พระองค์ทรงคิดพุทธพจน์คำสอนด้วยพระหทัยแล้วทรงนำออกเผยแพร่ด้วยพระวาจา เป็นเหตุให้พระองค์ก็คือพระธรรม เพราะทรงเป็นแหล่งที่ประมวลหรือที่ประชุมอยู่แห่งพระธรรมอันปรากฏเปิดเผยออกมาแก่ชาวโลก; พรหมกาย หรือ พรหมภูต ก็เรียก;
2. “กองธรรม” หรือ “ชุมนุมแห่งธรรม” ธรรมกายย่อมเจริญงอกงามเติบขยายขึ้นได้โดยลำดับจนไพบูลย์ ในบุคคลผู้เมื่อได้สดับคำสอนของพระองค์แล้วฝึกอบรมตนด้วยไตรสิกขาเจริญมรรคาให้บรรลุภูมิแห่งอริยชน ดังตัวอย่างดำรัสของพระมหาปชาบดีโคตมี เมื่อครั้งกราบทูลลาพระพุทธเจ้าเพื่อปรินิพพานตามความในคัมภีร์อปทานตอนหนึ่งว่า “ข้าแต่พระสุคตเจ้า หม่อมฉันเป็นมารดาของพระองค์, ข้าแต่พระธีรเจ้า พระองค์ก็เป็นพระบิดาของหม่อมฉัน … รูปกายของพระองค์นี้ หม่อมฉันได้ทำให้เจริญเติบโต ส่วนธรรมกายอันเป็นที่เอิบสุขของหม่อมฉัน ก็เป็นสิ่งอันพระองค์ได้ทำให้เจริญเติบโต”; สรุปตามนัยอรรถกถา ธรรมกาย ในความหมายนี้ ก็คือโลกุตตรธรรม ๙ หรืออริยสัจจ์
(ประมวลศัพท์)
ธรรมกาย
น. กายคือธรรม ได้แก่ พระมหากรุณาธิคุณ พระปัญญาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ; พระนามหนึ่งของพระพุทธเจ้า ตามคติมหายานเชื่อว่า ได้แก่พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า. (ส.; ป. ธมฺมกาย).