บาลีวันละคำ

ราชา – ราชินี (บาลีวันละคำ 96)

ราชา – ราชินี

เป็นคำบาลีที่อ่านง่าย ไม่ต้องแปล คนไทยก็เข้าใจกันเป็นอย่างดี

เราทราบกันว่า “ราชา” คือ พระเจ้าแผ่นดิน, พระมหากษัตริย์

แต่ถ้าถามว่า คำว่า “ราชา” แปลว่าอะไร หลายคนอาจยังไม่ทราบ

“ราชา” แปลตามรากศัพท์ว่า

1- “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก”

ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก ราช (ธาตุ = รุ่งเรือง) + อ (ปัจจัย) = ราช

หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย

2- “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี”

ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก รญฺช (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ณ (ปัจจัย) ลบ ณ ลบ ญฺ แผลง ร เป็น รา = ราช

หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)

“ราช” ถ้าเป็นเพศชาย (ปุงลิงค์) เป็น “ราชา”

ถ้าเป็นเพศหญิง (อิตถีลิงค์) แปลงรูปเป็น “ราชินี” (ราช + อินี =ราชินี)

ตามศัพท์ “ราชินี” แปลว่า “หญิงที่เป็นพระราชา” ในภาษาไทย “ราชินี” หมายถึงพระมเหสี = ชายาของพระราชา

บาลีวันละคำ (96)

12-8-55

ราชา ๑

  น. พระเจ้าแผ่นดิน, พระมหากษัตริย์. (ป., ส.).

อติเตชวนฺตตาย วิเสเสน ราชเต ทิพฺพเตติ ราชา ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก

ราช ธาตุ ในความหมายว่ารุ่งเรือง อ ปัจจัย

จตูหิ สงฺคหวตฺถูหิ อตฺตนิ ชนํ รญฺเชตีติ ราชา ผู้ยังผู้คนให้ยินดีในตน

รญฺช ธาตุ ในความหมายว่ายินดี พอใจ ณ ปัจจัย ล ณ และ ญฺ พทธ์ อ เป็น อา

ราชินี ๑

  น. พระมเหสี, ใช้ว่า ราชญี ก็ได้. (ป.).

มเหสิ, มเหสี ๑

  น. ผู้แสวงหาศีลาทิคุณอันยิ่งใหญ่, ฤษีใหญ่, พระพุทธเจ้า. (ป.; ส. มหรฺษิ).

มเหสี ๒

  น. ชายาพระเจ้าแผ่นดิน. (ป.; ส. มหิษี).

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย