เลขาธิการ (บาลีวันละคำ 259)
เลขาธิการ
(บาลีไทย)
อ่านว่า เล-ขา-ทิ-กาน
“เลขาธิการ” ประกอบด้วยคำว่า เลขา + อธิการ
“เลขา” คำแปลที่เราคุ้นคือ “เขียนหนังสือ” แต่ “เลขา”แปลได้อีกหลายอย่าง คือ รอยขีด, รอยเขียน, การขีดเขียน, สิ่งที่เขียน, ตัวอักษร, คำจารึก, หนังสือ, เส้นหรือลายที่เขียนหรือวาด, ศิลปะในการเขียนหรือวาด, ไร่ป่า, แถว, แนว
“อธิการ” แปลว่า การเอาใจใส่หรือติดตาม, การให้บริการ, การบริหาร, การดูแลควบคุม, การจัดการ, การช่วยเหลือ และหมายรวมถึงตัวบุคคลผู้มีอำนาจหน้าที่ทำการดังว่านี้ด้วย
เลขา + อธิการ = เลขาธิการ แปลตามความหมายในภาษาบาลีได้ว่า ผู้มีอำนาจออกคำสั่ง (ชั้นเดิมโดยการเขียน) ในการบริหารกิจการต่างๆ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกว่า
“เลขาธิการ : ผู้ดํารงตําแหน่งบริหารระดับสูงตําแหน่งหนึ่ง”
คำว่า “เลขาธิการ” ไม่มีใช้ในคัมภีร์ เราคิดขึ้นเทียบภาษาอังกฤษว่า secretary
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล secretary เป็นภาษาบาลีว่า “เลกฺขนาธิการี” (เลก-ขะ-นา-ทิ-กา-รี) ซึ่งตรงกับบาลีไทยของเรา เพราะ “เลกฺขน” ก็คือ “เลขา” “อธิการี” ก็คือ “อธิการ”
: สัจธรรมทั้งปวง ถ้ามองถูกก็จะเห็นตรงกัน ไม่ใช่เฉพาะภาษาเท่านั้น
บาลีวันละคำ (259)
23-1-56
เพิ่มเติมแนวคิด
ความหมายเดิมของคำว่า “เลขา” มีที่มาจากผู้รับคำสั่งของพระเจ้าแผ่นดินจะเขียนคำสั่งนั้นเป็นหนังสือ ตำแหน่งผู้รับคำสั่งถือว่าเป็นตำแหน่งที่สำคัญมาก คำว่า “เลขา” จึงมิใช่เพียงแค่งานเขียนหนังสือตามตัว แต่หมายถึงอำนาจที่จะออกคำสั่งในเรื่องต่างๆ ด้วย
เลขา (บาลี-อังกฤษ)
เสี้ยว, รอยขีด, เส้น, การขีดเขียน, คำจารึก, หนังสือ, ศิลปะในการเขียนหรือวาด
เลขา
น. ลาย, รอยเขียน, ตัวอักษร, การเขียน.ว. งามดังเขียน. (ป., ส.).
เลขา (บาลี-อังกฤษ)
เสี้ยว, รอยขีด, เส้น, การขีดเขียน, คำจารึก, หนังสือ, ศิลปะในการเขียนหรือวาด
เลขา อิต.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
สิ่งที่เขียน, ตัวอักษร, อักขระ, ไร่ป่า, แถว, แนว.
เลขาธิการ
น. ผู้ดํารงตําแหน่งบริหารระดับสูงตําแหน่งหนึ่ง เช่น เลขาธิการสหประชาชาติ เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน เลขาธิการรัฐสภา เลขาธิการสมาคม. (ส. เลขาธิการี ว่า เสมียนของพระเจ้าแผ่นดิน).
secretary เลกขนาธิการี
อธิการ(บาลี-อังกฤษ)
การเอาใจใส่หรือติดตาม, การให้บริการ, การบริหาร, การดูแลควบคุม, การจัดการ, การช่วยเหลือ
อธิการ
[อะทิกาน] น. เรียกพระที่ดํารงตําแหน่งเจ้าอาวาสซึ่งไม่มีสมณศักดิ์อย่างอื่นว่า พระอธิการ, เรียกพระที่ดํารงตําแหน่งพระอุปัชฌาย์หรือเจ้าคณะตําบล ซึ่งไม่มีสมณศักดิ์อย่างอื่นว่า เจ้าอธิการ; ตําแหน่งสูงสุดของผู้บริหารในวิทยาลัย. (ป., ส.).
อธิการบดี
[อะทิกานบอดี] น. ตําแหน่งสูงสุดของผู้บริหารในมหาวิทยาลัย.