บาลีวันละคำ

องก์ ไม่ใช่ องค์ (บาลีวันละคำ 3,690)

องก์ ไม่ใช่ องค์

และ องค์ ก็ไม่ใช่ องก์

ถ้ามีคำบอกว่า “ละ-คอน-เรื่อง-นี้-มี สาม-อง”

แล้วให้เขียนตามคำบอก คนส่วนมากจะเขียนว่า “ละครเรื่องนี้มี 3 องค์”

ให้คนที่รู้ภาษาไทยอ่าน ก็จะบอกว่า เขียนผิด คำว่า “อง” ในที่นี้ต้องสะกดเป็น “องก์” ก ไก่ การันต์ ไม่ใช่ “องค์” ค ควาย การันต์

องก์” ก ไก่ การันต์ กับ “องค์” ค ควาย การันต์ เป็นคนละคำกัน

(๑) “องก์” (ก ไก่ การันต์)

บาลีเป็น “องฺก” อ่านว่า อัง-กะ รากศัพท์มาจาก องฺกฺ (ธาตุ = เครื่องหมาย, กำหนด; ไป, ถึง, เป็นไป) + (อะ) ปัจจัย

: องฺกฺ + = องฺก (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเครื่องอันเขากำหนด” (คือเขาใช้เป็นเครื่องหมาย) (2) “สิ่งที่ทำให้เป็นไป

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปลไว้ดังนี้ –

ความหมายที่ (1): องก์, เครื่องหมาย, ตรา, ตำหนิ, รอย 

ความหมายที่ (2): พก, ตัก, สะเอว, สีข้าง, คบไม้

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ มีคำว่า “องฺก” 2 คำ แปลไว้ดังนี้ –

องฺก” (1) sign, mark, brand (เครื่องหมาย, รอย, ตรา)

องฺก” (2) –

(ก) a hook (ตาขอ) 

(ข) the lap [i. e. the bent position] or the hollow above the hips where infants are carried by Hindoo mothers or nurses (ตัก [คือตำแหน่งที่โค้ง] หรือแอ่งเหนือตะโพกซึ่งมารดาชาวฮินดูหรือคนเลี้ยงเด็กให้เด็กนั่ง)

บาลี “องฺก” สันสกฤตก็เป็น “องฺก

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

องฺก : (คำนาม) ‘องก์,’ เครื่องหมาย, ที่, สีข้าง, สะเอว, ฉากหรือชุดของบทลคร, ความผิด, เส้น, สาย, แนว, อนุรูปยุทธ, เครื่องประดับ, ที่อาศรัย, ความใกล้ชิด, ตอน, หมวด, บั้น, ศูนย์, ตัวเลข; a mark, a spot, the flank, waist, the act of a play, fault, a line, a stroke, mimic war, an ornament or decoration, a bode, nearness or proximity, a part, a chapter or section, a cipher (an arithmetical sign).”

องฺก” ในภาษาไทยใช้เป็น “องก์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

องก์ : (คำนาม) ตอนหนึ่ง ๆ ในบทละคร แต่ละตอนอาจมีเพียงฉากเดียวหรือหลายฉากก็ได้. (ป., ส. องฺก).”

เพราะฉะนั้น คำบอกว่า “ละ-คอน-เรื่อง-นี้-มี สาม-อง” จึงต้องเขียนว่า “ละครเรื่องนี้มี 3 องก์” – องก์ ก ไก่ การันต์

(๒) “องค์” (ค ควาย การันต์)

บาลีเป็น “องฺค” อ่านว่า อัง-คะ รากศัพท์มาจาก องฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป; รู้) + (อะ) ปัจจัย

: องฺคฺ + = องฺค แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างที่เดินได้” (2) “เหตุเป็นเครื่องรู้ที่เกิด” คือทำให้รู้ต้นกำเนิด (3) “ส่วนอันเขารู้ว่าเป็นอวัยวะ” 

องฺค” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีหมายถึง ส่วนของร่างกาย, แขนขา, ชิ้นส่วน, ส่วนประกอบ, เหตุ, เครื่องหมาย (part of the body, a limb, part, member, cause, reason, status symbol); ส่วนประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ หรือขององค์ (a constituent part of a whole or system or collection)

องฺค” ในภาษาไทยใช้เป็น “องค์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

(๑) ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ, (ราชาศัพท์) ตัว (ใช้แก่หม่อมเจ้า) เช่น รู้สึกองค์ แต่งองค์.

(๒) ส่วนย่อยที่เป็นองค์ประกอบ เช่น มรรคมีองค์ ๘.

(๓) ในราชาศัพท์ใช้เป็นลักษณนามเรียกอวัยวะ สิ่งของ หรือคำพูด เป็นต้น ของกษัตริย์หรือเจ้านาย เช่น พระทนต์ ๑ องค์ (ฟัน ๑ ซี่) พระสุพรรณภาชน์ ๑ องค์ พระศรี ๑ องค์ (หมาก ๑ คำ) พระที่นั่ง ๑ องค์ พระบรมราโชวาท ๒ องค์.

(๔) ลักษณนามใช้เรียกสิ่งที่เคารพบูชาบางอย่างในทางศาสนา เช่น พระพุทธรูป ๑ องค์ พระเจดีย์ ๒ องค์, (ภาษาปาก) ลักษณนามใช้เรียกภิกษุสามเณร เช่น ภิกษุ ๑ องค์.

…………..

เสียงที่พูดว่า “อง” ในภาษาไทยเราคุ้นกันในรูปคำว่า “องค์” (ค ควาย การันต์) พอพูดว่า “ละ-คอน-เรื่อง-นี้-มี สาม-อง” คนส่วนมากจึงสะกดเป็น “ละครเรื่องนี้มี 3 องค์” – ซึ่งเป็นคำผิด

“ตอนหนึ่ง ๆ ในบทละคร” มีคำเรียกเฉพาะว่า “องก์” (ก ไก่ การันต์)

“ละ-คอน-เรื่อง-นี้-มี สาม-อง” จึงต้องสะกดเป็น “ละครเรื่องนี้มี 3 องก์” – องก์ ก ไก่ การันต์

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ภาษาเป็นสิ่งที่สามารถศึกษาเรียนรู้ได้

: มนุษย์เป็นสัตว์ที่สามารถศึกษาเรียนรู้ได้

#บาลีวันละคำ (3,690)

20-7-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *