ปกติ (บาลีวันละคำ 97)
ปกติ
อ่านว่า ปะ-กะ-ติ
ภาษาไทยใช้ว่า “ปกติ” (ปะ-กะ-ติ หรือ ปก-กะ-ติ) และ “ปรกติ” (ปฺรก-กะ-ติ)
ความหมายที่เข้าใจกันทั่วไปคือ ธรรมดา, เป็นไปตามเคย, อย่างเคย, ไม่แปลกไปจากธรรมดา, คงที่, ดั้งเดิม, ตัวจริง, แท้จริง
“ปกติ” ประกอบด้วย ป (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ติ (ปัจจัย) = ปกติ
แปลตามความหมายของ ป– (ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) จะได้ความดังนี้ –
1. ปกติ = “ทำทั่ว” คือทำทั่วถึง ไม่ใช่ทำบางวัน ทำบางเวลา บางสถานที่ กับบางบุคคล แต่ทำทั่วถึงทั้งหมด
2. ปกติ = “ทำข้างหน้า” คือถ้าเห็นผู้นั้น ก็จะต้องเห็นสิ่งที่เขาทำนำหน้ามาด้วยเสมอ (ทำอย่างเปิดเผย)
3. ปกติ = “ทำก่อน” คือถ้ามีเรื่องให้ทำหลายอย่าง ก็จะเลือกทำสิ่งนั้นก่อนเสมอ (ทำอย่างเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน)
4. ปกติ = “ทำออก” คือทำออกไปให้ปรากฏ ทั้งแก่คนทั่วไป และแก่ใจตนเอง
ตัวอย่างที่อาจชวยให้เห็นได้ชัดเจน เช่น “รักแม่เป็นปกติ” คือรักทั่วถึงทุกวัน ไม่ใช่รักเฉพาะวันแม่ รักแม่นำหน้า-มาก่อนรักคนอื่นๆและรักจนเป็นที่รู้กัน
“ปกติ” คำที่ดูเหมือนพื้นๆ ตื้นๆ ธรรมดาๆ แต่ความหมายลึกซึ้ง ไม่ธรรมดานะ – จะบอกให้
บาลีวันละคำ (97)
13-8-55
ปกติ (อิต.)
ปรกติ, ธรรมดา, คงที่.
ดั้งเดิม, ตัวจริง, แท้จริง, อย่างเคย
ปกติ
[ปะกะติ, ปกกะติ] ว. ธรรมดา, เป็นไปตามเคย, ไม่แปลกไปจากธรรมดา, ปรกติ ก็ว่า. (ป.; ส. ปฺรกฺฤติ).
ปรกติ
[ปฺรกกะติ] ว. ธรรมดา เช่น ตามปรกติ, เป็นไปตามเคย เช่น เหตุการณ์ปรกติ, ไม่แปลกไปจากธรรมดา เช่น อาการปรกติ, ปกติ ก็ว่า. (ส. ปฺรกฺฤติ; ป. ปกติ).