บาลีวันละคำ

ภิกฺขุ (บาลีวันละคำ 98)

ภิกฺขุ

อ่านว่า พิก-ขุ

ภาษาไทยนิยมใช้ตามรูปภาษาสันสกฤตเป็น “ภิกษุ

ความหมายที่รู้กันเป็นสามัญ “ภิกขุภิกษุ” คือชายที่บวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา

ภิกขุ” แปลตามรากศัพท์ มีหลายความหมาย คือ –

1 “ผู้ขอ” (ภิกฺขตีติ ภิกฺขุ = ภิกฺข + รู, ลบ ร รัสสะ อู เป็น อุ)

2 “ผู้เห็นภัยในการเวียนตายเวียนเกิด” (สํสาเร ภยํ อิกฺขตีติ ภิกฺขู = ภย + อิกฺข + รู)

3 “ผู้ทำลายบาปอกุศล” (ภินฺทติ ปาปเก อกุสเล ธมฺเมติ ภิกฺขุ = ภิทฺ + รู)

4 “ผู้นุ่งห่มผ้าที่ถูกตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย” (ภินฺนปฏธโรติ ภิกฺขุ)

5 “ผู้ได้บริโภคอมตรสคือพระนิพพาน” (ภกฺขติ อมตรสํ ภุญฺชตีติ ภิกฺขุ = ภกฺข + รู)

ศัพท์เดียวมีอรรถตั้งร้อย” – (วาทะสมเด็จโต)

เพราะฉะนั้น คำพูดคำเดียว อย่าเพิ่งด่วนสรุป

บาลีวันละคำ (98)

14-8-55

ภิกฺขุ = ภิกษุ (ศัพท์วิเคราะห์)

– ภิกฺขตีติ ภิกฺขุ ผู้ขอ

ภิกฺขฺ ธาตุ ในความหมายว่าขอ รู ปัจจัย, ลบ ร อนุพันธ์, รัสสะ อู เป็น อุ

– สํสาเร ภยํ อิกฺขตีติ ภิกฺขุ ผู้เห็นภัยในสังสารวัฏ

ภย บทหน้า อิกฺขฺ ธาตุ ในความหมายว่าเห็น รู ปัจจัย, ลบ ย บทหน้า, ลบ ร อนุพันธ์, รัสสะ อู เป็น อุ

– ภินฺทติ ปาปเก อกุสเล ธมฺเมติ ภิกฺขุ ผู้ทำลายบาปอกุศลธรรม

ภิทฺ ธาตุ ในความหมายว่าทำลาย รู ปัจจัย, แปลง ทฺ เป็น ข, ซ้อน กฺ ฯลฯ

– ภินฺนปฏธโรติ ภิกฺขุ ผู้นุ่งห่มผ้าที่ถูกตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย (เหมือน วิ.ต้น)

– ภกฺขติ อมตรสํ ภุญฺชตีติ ภิกฺขุ ผู้ได้บริโภคอมตรสคือพระนิพพาน

ภกฺขฺ ธาตุ ในความหมายว่ากิน รู ปัจจัย, แปลง อ เป็น อิ ฯลฯ

ภิกษุ

ชายผู้ได้อุปสมบทแล้ว, ชายที่บวชเป็นพระ, พระผู้ชาย; แปลตามรูปศัพท์ว่า “ผู้ขอ” หรือ “ผู้มองเห็นภัยในสงสาร” หรือ “ผู้ทำลายกิเลส”; ดู บริษัท ๔,สหธรรมิก, บรรพชิต, อุปสัมบัน        ภิกษุสาวกรูปแรก ได้แก่ พระอัญญาโกณฑัญญะ