บาลีวันละคำ

ภิกฺขุนี (บาลีวันละคำ 99)

ภิกฺขุนี

อ่านว่า พิก-ขุ-นี

ภาษาไทยนิยมใช้ตามรูปภาษาสันสกฤตเป็น “ภิกษุณี

ความหมายที่รู้กันเป็นสามัญ “ภิกขุนีภิกษุณี” คือหญิงที่บวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา

โปรดสังเกต ภาษาบาลี –นี น หนู ภาษาสันสกฤต –ณี ณ เณร

คำว่า “ภิกษุณี” มีรากศัพท์เหมือน “ภิกฺขุ” แต่เติม “อินี” ปัจจัย เพื่อทำให้คำเพศชายกลายเป็นคำเพศหญิง ทำนองเดียวกับ ราชาราชินี

เศรษฐีเศรษฐินี

ดาบสดาบสินี

ศีลจารีศีลจารินี

ข้อควรทราบเกี่ยวกับภิกษุณี เช่น

– ภิกษุณีมีศีล 311 ข้อ (ภิกษุมี 227 ข้อ)

– หญิงที่จะบวชเป็นภิกษุณีเมื่อบวชกับคณะภิกษุณีสงฆ์แล้วต้องบวชซ้ำกับคณะภิกษุสงฆ์อีกครั้งหนึ่งจึงจะสำเร็จเป็นภิกษุณี

– ภิกษุณีต้องปฏิบัติตามกฎ “ครุธรรม” 8 ข้อ อย่างเคร่งครัดตลอดชีวิต คือ –

1. ภิกษุณีแม้บวชร้อยพรรษาแล้วก็ต้องกราบไหว้ภิกษุแม้บวชวันเดียว

2. ภิกษุณีจะอยู่ในวัดที่ไม่มีภิกษุไม่ได้

3. ภิกษุณีต้องไปถามวันอุโบสถและเข้าไปฟังโอวาทจากภิกษุทุกกึ่งเดือน

4. ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้วต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่าย (คือ ทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์)

5. ภิกษุณีต้องอาบัติหนัก ต้องประพฤติมานัตในสงฆ์สองฝ่าย ๑๕ วัน

6. ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์สองฝ่าย เพื่อนางสิกขมานา

7. ภิกษุณีไม่พึงด่าไม่พึงบริภาษภิกษุไม่ว่าจะด้วยวิธีใดๆ

8. ไม่ให้ภิกษุณีว่ากล่าวภิกษุ แต่ภิกษุว่ากล่าวภิกษุณีได้

ปัจจุบัน ในคณะสงฆ์เถรวาท ไม่มีภิกษุณี

บาลีวันละคำ (99)

15-8-55

ภิกษุณี

หญิงที่ได้อุปสมบทแล้ว, พระผู้หญิงในพระพุทธศาสนา; เทียบ ภิกษุ

ภิกษุณี

  น. หญิงที่บวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา. (ส.; ป. ภิกฺขุนี).

ครุธรรม

ธรรมอันหนัก, หลักความประพฤติสำหรับนางภิกษุณีจะพึงถือเป็นเรื่องสำคัญอันต้องปฏิบัติด้วยความเคารพไม่ละเมิดตลอดชีวิต มี ๘ ประการ คือ

๑. ภิกษุณีแม้บวชร้อยพรรษาแล้วก็ต้องกราบไหว้ภิกษุแม้บวชวันเดียว

๒. ภิกษุณีจะอยู่ในวัดที่ไม่มีภิกษุไม่ได้

๓. ภิกษุณีต้องไปถามวันอุโบสถและเข้าไปฟังโอวาทจากภิกษุทุกกึ่งเดือน

๔. ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้วต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่ายโดยสถานทั้ง ๓ คือ โดยได้เห็น โดยได้ยิน โดยรังเกียจ (รังเกียจ หมายถึง ระแวงสงสัยหรือเห็นพฤติกรรมอะไรที่น่าเคลือบแคลง)

๕. ภิกษุณีต้องอาบัติหนัก ต้องประพฤติมานัตในสงฆ์สองฝ่าย (คือ ทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์) ๑๕ วัน

๖. ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์สองฝ่าย เพื่อนางสิกขมานา

๗. ภิกษุณีไม่พึงด่าไม่พึงบริภาษภิกษุไม่ว่าจะโดยปริยายใดๆ

๘. ไม่ให้ภิกษุณีว่ากล่าวภิกษุ แต่ภิกษุว่ากล่าวภิกษุณีได้

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย