อตฺตา หเว ชิตํ เสยฺโย
อตฺตา หเว ชิตํ เสยฺโย
———————
เวลาออกไปเดินออกกำลังตอนเช้า ผมจะเอาสตางค์ใส่กระเป๋าไป 2 ยอด
ยอดหนึ่งตั้งใจเอาไปบริจาค (โดยมากใส่ตู้รับบริจาคตามวัดต่างๆ)
อีกยอดหนึ่ง ทำตามคติโบราณที่ว่า –
“เป็นคนจากบ้านอย่า เปล่าดาย
เงินสลึงขอดชาย พกไว้”
(น่าจะเป็นโคลงโลกนิติ-ถ้าจำไม่ผิด)
ถอดเป็นคำสั้นๆ ว่า ออกจากบ้านไปไหน ให้มี “เงินสลึงขอดชายพก” ติดไปบ้าง
มีคำสมัยใหม่อธิบายเพิ่มเติมว่า-เผื่อมีคนเอาช้างมาขายถูกๆ
หมายความว่า เผื่อไปเจอของต้องใจ อยากได้มานานแล้ว หรือของจำเป็นต้องใช้ จะได้ไม่พลาดโอกาส
ผมเคยพลาดโอกาสมาแล้วจริงๆ
วันหนึ่ง ไปเจอหนังคาวบอยคลาสสิก ตามหามานาน เจอในร้านไม่รู้จักหลับจักนอน วันนั้นไม่ได้เอา “เงินสลึงขอดชายพก” ไป อาฆาตไว้ว่าพรุ่งนี้จะรีบมาซื้อ
รุ่งขึ้นไปใหม่อีกที
คาวบอยคลาสสิกกล่องนั้นอันตรธานไปแล้ว!!
………………….
เมื่อเช้านี้ (๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๒) ผมไปทางทิศตะวันออก ผ่านเข้าไปในวัดช่องลม ไหว้พระ ใส่ตู้บริจาคเรียบร้อย
เดินเลียบเขื่อนริมน้ำแม่กลอง
ไปถึงสะพานรถไฟ
ข้ามแม่น้ำไปฝั่งทหาร
เลาะค่ายภาณุรังษีไปถึงบิ๊กซี
เลี้ยวซ้าย ข้ามสะพานสิริลักขณ์
เลี้ยวเข้าวัดมหาธาตุ
ขึ้นไปไหว้พระบนศาลา
เห็นตู้รับบริจาคสงเคราะห์ “พระอาพาธ”
ตบกระเป๋า
ใจหนึ่งอยากบริจาค
อีกใจหนึ่งบอกว่า นั่นมัน “เงินสลึงขอดชายพก”
นึกถึงนิทานธรรมบทเรื่องพราหมณ์จูเฬกสาฎก ภาค ๕
พูดแค่นี้ นักเรียนบาลีบาลีรุ่นเก่าเข้าใจทะลุทันที
………………….
ขออนุญาตแวะตรงนี้หน่อยครับ
สมัยก่อน ในยุคที่เรียนบาลีเริ่มต้นที่ประโยค ๓ คือยังไม่ได้แยกเป็นประโยค ๑-๒ เหมือนเดี๋ยวนี้ เราจะเริ่มเรียนแปลธรรมบทกันที่ภาค ๕ ก่อน บางท่านบอกเหตุผลว่า เพราะภาค ๕ แปลง่ายกว่าภาคอื่น
แต่มาฉุกคิดได้เดี๋ยวนี้เองว่า-หรือว่าเดิมจริงๆ ท่านก็เคยแยกเป็นประโยค ๑-๒ มาแล้ว?
สมัยผมเรียนบาลี พอเรียนไวยากรณ์จบ ก็เริ่มเรียนประโยค ๓ แล้วก็สอบประโยค ๓ เลย
แล้วประโยค ๑-๒ หายไปไหน?
เข้าใจว่า เดิมคงมีประโยค ๑-๒ เรียนแปลธรรมบทภาค ๑ ถึง ภาค ๔ ประโยค ๓ เรียนแปลธรรมบทภาค ๕ ถึง ภาค ๘
แล้วต่อมาก็ยุบประโยค ๑-๒ รวมเข้ากับประโยค ๓ นักเรียนรุ่นที่ไม่มีประโยค ๑-๒ จึงเริ่มแปลธรรมบทภาค ๕ อันเป็นแบบเรียนแปลเล่มแรกของประโยค ๓ มาแต่เดิม จบแล้วก็แปลไล่มาตั้งภาค ๑ ภาค ๒ ไปจนถึงภาค ๘
เพราะฉะนั้น ที่นักเรียนบาลีรุ่นเก่าเริ่มด้วยการแปลธรรมบทภาค ๕ จึงไม่ใช่เพราะแปลง่ายกว่าภาคอื่น
หากแต่เป็นเพราะ ภาค ๕ เป็นแบบเรียนแปลเล่มแรกของประโยค ๓ มาแต่เดิมนั่นเอง
บันทึกไว้เผื่อใครยังสงสัย
………………….
เรื่องพราหมณ์จูเฬกสาฎกเป็นอย่างไร? ขอสรุปสั้นๆ สำหรับญาติมิตรที่ไม่เคยเรียนบาลี
มีผัวเมียแสนจนคู่หนึ่ง ทั้งบ้านมีผ้าสำหรับห่มออกนอกบ้านผืนเดียว
วัฒนธรรมของชาวชมพูทวีป ใครจะออกนอกบ้านต้องมีผ้าห่มห่มตัวไปด้วย
พูดให้เห็นภาพ ก็เหมือนเราสมัยนี้ไปไหนมาต้องนุ่งผ้าสวมเสื้อให้เรียบร้อย ผ้าห่มทำหน้าที่เหมือนเสื้อนั่นเอง
เพราะฉะนั้น ผัวเมียคู่นี้ออกนอกบ้านพร้อมกันไม่ได้
วันหนึ่ง ชาวเมืองจัดให้มีการฟังเทศน์ตลอดรุ่ง
สองคนนี่มีศรัทธา ตกลงกันว่า เมียไปฟังกลางวัน ผัวไปฟังกลางคืน
ผัวฟังเทศน์ตั้งแต่หัวค่ำ เกิดศรัทธาอยากจะติดกัณฑ์เทศน์บูชาธรรม แต่ไม่มีทรัพย์สิ่งใดนอกจากผ้าห่ม
ขยับจะเปลื้องผ้าห่มติดกัณฑ์เทศน์ แต่เป็นห่วงเมีย ไม่มีผ้าห่ม เดี๋ยวเมียออกนอกบ้านไม่ได้
ยกแรกนี่แพ้
ยกสอง ฟังเทศน์ต่อไปถึงเที่ยงคืน เกิดศรัทธาอีก คิดเหมือนเดิมอีก
แพ้อีก
ยกสุดท้าย ฟังเทศน์ไปจนถึงค่อนสว่าง เกิดศรัทธาอีก คราวนี้ฮึดสู้ เปลื้องผ้าห่มออกบูชาธรรมจนได้ พลางตะโกนลั่นศาลาโรงธรรมว่า –
ชิตํ เม ชิตํ เม
แปลเป็นไทยตามสำนวนนักเลงปากท่อว่า “กูชนะแล้วโว้ย!”
………………….
เมื่อเช้าผมแพ้ยกหนึ่ง
แต่ไม่รอให้ถึงยกสามหรอกครับ
พอขึ้นยกสอง ผมก็ลุยทันที
“เงินสลึงขอดชายพก” ลงไปอยู่ในตู้รับบริจาคสงเคราะห์ “พระอาพาธ” เรียบร้อย
………..
ชื่อเรื่องข้างต้น “อตฺตา หเว ชิตํ เสยฺโย”
พุทธศาสนสุภาษิต เล่ม ๑ ท่านแปลไว้ว่า “ชนะตนนั่นแหละ เป็นดี”
ขอประทานโทษ-สำนวนนักเลงปากท่อพูดกับตัวเองว่า “ชนะใจนี่แม่งโคตรชนะเลยว่ะ”
อนุโมทนาบุญโดยทั่วกันนะครับ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๒
๑๑:๓๘
…………………………….
…………………………….