คิริขนฺธ (บาลีวันละคำ 101)
คิริขนฺธ
อ่านว่า คิ-ริ-ขัน-ทะ
“คิริ” แปลว่า ภูเขา
“ขนฺธ” เขียนแบบไทยเป็น ขันธะ (ขัน-ทะ) แปลว่า ตัว, หมู่, กอง, พวก, หมวด, ส่วนหนึ่ง ๆ ของรูปกับนามที่แยกออกเป็น 5 กอง คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเรียกว่า ขันธ์ 5 หรือเบญจขันธ์
“คิริ” มีในภาษาบาลี “ขนฺธ” ก็มีในภาษาบาลี แต่คำว่า “คิริขนฺธ” ที่ใช้คู่กันเช่นนี้ไม่พบในคัมภีร์
ในที่นี้ผูกศัพท์ขึ้นเพื่อเทียบกับชื่อจังหวัด “ประจวบคีรีขันธ์” เพื่อให้ทราบว่า คำว่า “คีรีขันธ์” ถ้าเป็นภาษาบาลี จะเป็น “คิริขนฺธ”
โปรดสังเกตว่า “คิริ” ในบาลี กลายเสียงเป็น “คีรี” ในภาษาไทย เนื่องจากลิ้นไทยออกเสียง “คีรี” ง่ายกว่า “คิริ”
“คิริขนฺธ” หรือ “คีรีขันธ์” แปลว่า “กลุ่มแห่งภูเขา” ชื่อจังหวัด “ประจวบคีรีขันธ์” ควรจะมีความหมายว่า “กลุ่มภูเขาที่มาบรรจบกัน”
จังหวัดนี้เดิมชื่อเมืองบางนางรม รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น “ประจวบคีรีขันธ์” คู่กับเกาะกง ซึ่งพระราชทานนามว่า “ประจันตคีรีเขต” ซึ่งควรจะแปลว่า “แดนภูเขาที่อยู่ชายแดน”
ชี้แจง : บาลีวันละคำไม่มีความประสงค์ที่จะนำชื่อจังหวัดในประเทศไทยมาแปลเป็นภาษาบาลี แต่ประสงค์จะชี้ว่าชื่อที่เป็นคำบาลีอยู่แล้วนั้นในภาษาบาลีจริงๆ รูปคำเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องน่ารู้
เริ่มที่ “ประจวบคีรีขันธ์” เพื่อสนองน้ำใจของคุณอ้น พัศยศ ที่กรุณาชี้แนะ
ถ้าเพื่อน facebook ไม่รำคาญกันเสียก่อน ก็จะได้นำชื่อจังหวัดอื่นๆ มาเสนออีกตามวาระอันเหมาะสม – ขอบคุณครับ
บาลีวันละคำ (101)
17-8-55
ขนฺธ – ขณฺฑ
ประจวบคีรีขันธ์ = กลุ่มภูเขาที่มาบรรจบกัน
ปัจจันต-, ปัจจันต์
[ปัดจันตะ-, ปัดจัน] (แบบ) ว. ที่สุดแดน, ปลายเขตแดน. (ป.).
คีรี
น. ภูเขา. (ป., ส. คิริ).
ประจวบ
ก. จําเพาะพอดี, สบเหมาะ, บังเอิญพบ, เช่น นํ้าเหนือหลากมาประจวบกับนํ้าทะเลหนุน นํ้าเลยท่วม.
ประจบ ๑
- บรรจบ, เพิ่มให้ครบจํานวน, เช่น มีสลึงพึงประจบให้ครบบาท; จดกัน, ใกล้ชิดติดต่อกัน, เช่น ปูกระดานให้ประจบกัน ทาง ๒ สายมาประจบกัน, ทําให้เข้ากันสนิท เช่น ติดกรอบหน้าต่างให้มุมประจบกัน.
บรรจบ
[บัน-] ก. เพิ่มให้ครบจํานวน เช่น บรรจบให้ครบร้อย บรรจบให้ครบถ้วน; จดกัน, ใกล้ชิดติดต่อกัน, เช่น ปูกระดานให้บรรจบกัน ทาง ๒ สายมาบรรจบกัน, ทําให้เข้ากันสนิท เช่น ติดกรอบหน้าต่างให้มุมบรรจบกัน; ชนขวบ เช่น บรรจบรอบปี, ประจบ ก็ใช้.
ปจฺจนฺต
ปัจจันต-, ปัจจันต์
[ปัดจันตะ-, ปัดจัน] (แบบ) ว. ที่สุดแดน, ปลายเขตแดน. (ป.).
ขันธ์
น. ตัว, หมู่, กอง, พวก, หมวด, ส่วนหนึ่ง ๆ ของรูปกับนามที่แยกออกเป็น ๕ กอง คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเรียกว่า ขันธ์ ๕ หรือ ขันธ์ทั้ง ๕. (ป.; ส. สกนฺธ).
ขณฺฑ
หัก, ชิ้นส่วนที่แตกหัก, ท่อน, ชิ้น
ขัณฑ์
ส่วน ท่อน หรือชิ้น ที่ถูกตัด ทุบ ฉีก ขาด หัก แตก หรือแยกกันออกไป, ของที่ถูกตัด ฉีก ขาดเป็นส่วนๆ เป็นชิ้นๆ เป็นท่อนๆ; คำว่า “จีวรมีขัณฑ์ ๕” หรือ “จีวรห้าขัณฑ์” หมายถึงจีวรที่ประกอบขึ้นจากแผ่นผ้าที่ตัดแล้ว ๕ ชิ้น; ดู จีวร
เขต
[เขด] น. แดนที่กําหนดขีดคั่นไว้ เช่น เขตป่า เขตบ้าน, เวลาที่กําหนดขีดคั่นไว้ เช่น หมดเขตวันที่ ๑๕. (ป. เขตฺต). (โบราณเขียนว่า เขตร).
ประจวบคีรีขันธ์ เป็นเมืองโบราณในสมัยอยุธยา ชื่อเมืองนารังตั้งอยู่ริมคลองบางนางรม บริเวณสถานีรถไฟคั่นกระไดในปัจจุบัน แต่ได้ทิ้งร้างไป จนถึงในรัชกาลที่ ๒ จึงได้ตั้งเมืองขึ้นใหม่ที่ปากคลองบางนางรม เรียกว่า เมืองบางนางรม ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองบางนางรม เป็น เมืองประจวบคีรีขันธ์ (คู่กับเกาะกง ซึ่งพระราชทานนามว่า ประจันตคีรีเขต)