คณะสงฆ์ (บาลีวันละคำ 1,301)
คณะสงฆ์
อ่านว่า คะ-นะ-สง
ประกอบด้วย คณะ + สงฆ์
(๑) “คณะ”
บาลีเขียน “คณ” (คะ-นะ) รากศัพท์มาจาก คณฺ (ธาตุ = นับ) + อ ปัจจัย
: คณฺ + อ = คณ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนย่อยที่นับรวมกัน”
(1) เมื่อใช้คำเดียว หมายถึง กลุ่มคน, ฝูงชน, คนจำนวนมากมาย (a crowd, a multitude, a great many)
(2) เมื่อใช้เป็นส่วนท้ายคำสมาส หมายถึงการรวมเป็นหมู่ของสิ่งนั้นๆ (a collection of) กล่าวคือ กลุ่ม, ฝูงชน, มวล; ฝูง, ฝูงสัตว์; โขลง, หมู่, การรวมกันเป็นหมู่ (a multitude, mass; flock, herd; host, group, cluster)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “คณ-, คณะ” ไว้ดังนี้ –
(1) หมู่, พวก, (ซึ่งแยกมาจากส่วนใหญ่).
(2) กลุ่มคนผู้ร่วมกันเพื่อการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น คณะกรรมการ คณะสงฆ์ คณะนักท่องเที่ยว.
(3) หน่วยงานในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันที่เทียบเท่าซึ่งรวมภาควิชาต่าง ๆ ที่จัดการเรียนการสอนวิชาในสายเดียวกัน เช่น คณะนิติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์.
(4) จำนวนคำที่กำหนดไว้ในการแต่งร้อยกรองแต่ละประเภท โดยแบ่งเป็นบท บาท และวรรค เช่น คณะของกลอนแปด ๑ บท มี ๒ บาท แต่ละบาทมี ๒ วรรค แต่ละวรรคมี ๖ ถึง ๙ คำ.
(๒) “สงฆ์”
บาลีเขียน “สงฺฆ” (สัง-คะ) รากศัพท์มาจาก สํ (พร้อมกัน, ร่วมกัน) + หนฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ, แปลง หนฺ เป็น ฆ
: สํ > สงฺ + หนฺ = สงฺหน + อ = สงฺหน > สงฺฆ
หมายเหตุ : อักขรวิธีแบบเก่า ไม่แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ เขียนเป็น “สํฆ” ก็มี
“สงฺฆ” แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “หมู่เป็นที่ไปรวมกันแห่งส่วนย่อยโดยไม่แปลกกัน” หมายความว่า ส่วนย่อยที่มีคุณสมบัติหลักๆ “ไม่แปลกกัน” คือมีคุณสมบัติตรงกัน เหมือนกัน ส่วนย่อยดังกล่าวนี้ไปอยู่รวมกัน คือเกาะกลุ่มกัน ดังนี้เรียกว่า “สงฺฆ”
(2) “หมู่ที่รวมกันโดยมีความเห็นและศีลเสมอกัน” ความหมายนี้เล็งที่บรรพชิตหรือสาวกที่เป็นนักบวชในลัทธิศาสนาต่างๆ เช่นภิกษุในพระพุทธศาสนาเป็นต้น ต้องมีความคิดเห็นและความประพฤติลงรอยกันจึงจะรวมเป็น “สงฺฆ” อยู่ได้
“สงฺฆ” จึงหมายถึง หมู่, กอง, กลุ่ม, คณะ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺฆ” เป็นอังกฤษว่า –
(1) multitude, assemblage (ฝูงชน, ชุมนุมชน, หมู่, ฝูง)
(2) the Order, the priesthood, the clergy, the Buddhist church (คณะสงฆ์, พระ, นักบวช, พุทธจักร)
(3) a larger assemblage, a community (กลุ่มใหญ่, ประชาคม)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “สงฆ์” ไว้ดังนี้ –
(1) ภิกษุ เช่น ของสงฆ์ พิธีสงฆ์, บางทีก็ใช้ควบกับคํา พระ หรือ ภิกษุ เป็น พระสงฆ์ หรือ ภิกษุสงฆ์ เช่น นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ มีภิกษุสงฆ์มารับบิณฑบาตมาก, ลักษณนามว่า รูป หรือ องค์ เช่น ภิกษุสงฆ์ ๒ รูป พระสงฆ์ ๔ องค์.
(2) ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปร่วมกันทําสังฆกรรม แต่จํานวนภิกษุที่เข้าร่วมสังฆกรรมแต่ละอย่างไม่เท่ากัน คือ
ในสังฆกรรมทั่ว ๆ ไป เช่น ในการสวดพิธีธรรม สวดอภิธัมมัตถสังคหะ ประกอบด้วยภิกษุ ๔ รูป เรียกว่า สงฆ์จตุรวรรค
ในการรับกฐิน สวดพระปาติโมกข์ ปวารณากรรม และอุปสมบทในถิ่นที่ขาดแคลนภิกษุ ต้องประกอบด้วยภิกษุ ๕ รูป เรียกว่า สงฆ์ปัญจวรรค
ในการอุปสมบทในถิ่นที่มีภิกษุมาก ต้องประกอบด้วยภิกษุ ๑๐ รูป เรียกว่า สงฆ์ทสวรรค
และในการสวดอัพภานระงับอาบัติสังฆาทิเสส ต้องประกอบด้วยภิกษุ ๒๐ รูป เรียกว่า สงฆ์วีสติวรรค,
ภิกษุที่เข้าร่วมสังฆกรรมดังกล่าว ถ้ามากกว่าจํานวนที่กําหนดจึงจะใช้ได้ ถ้าขาดจํานวนใช้ไม่ได้.
……….
คณะ + สงฆ์ = คณะสงฆ์ เป็นคำประสม แปลว่า “คณะของสงฆ์” (ถ้าเป็นคำสมาส ต้องเป็น “สังฆคณะ”) คือกลุ่มของภิกษุที่อยู่ร่วมกันหรือมารวมกัน หมายถึงกลุ่มของภิกษุเป็นส่วนรวมทั้งประเทศก็ได้ เช่น คณะสงฆ์ไทย คณะสงฆ์ลาว หมายถึงกลุ่มของภิกษุเฉพาะที่ก็ได้ เช่น คณะสงฆ์วัดมหาธาตุ คณะสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหาร
ความรู้แถม :
๑ ในทางพระวินัย โดยเฉพาะเมื่อจะทำกิจของสงฆ์ คำว่า “คณะ” และ “สงฆ์” มีความหมายต่างกัน กล่าวคือ –
(1) ภิกษุรวมกันตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป เรียกว่า “สงฆ์”
(2) ภิกษุ 2 หรือ 3 รูป เรียกว่า “คณะ”
(3) ภิกษุรูปเดียว เรียกว่า “บุคคล”
๒ คณะสงฆ์ไทย นอกจากอยู่ร่วมกันโดยหลักพระธรรมวินัยแล้ว ปัจจุบันยังมีกฎหมายกำหนดรูปแบบการบริหารกิจการ เรียกว่า “พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๕๐๕”
๓ ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๕๐๕ รับรองว่าในประเทศไทยมี “คณะสงฆ์อื่น” อีกด้วย คือ บรรพชิตจีนนิกาย (สงฆ์จีน) และ อนัมนิกาย (สงฆ์ญวน)
หมู่คณะ >
: ถ้าไม่ช่วยกันทำให้งาม
: ก็อย่าช่วยกันทำให้ทราม
21-12-58