บาลีวันละคำ

สีมา (บาลีวันละคำ 106)

สีมา

อ่านตรงตัวว่า สี-มา

ภาษาไทยมักใช้ว่า “เสมา” (เส-มา)

สีมา” แปลว่า แดน, ขอบเขต, ตำบล (ฝรั่งแปล “สีมา” ว่า parish ด้วย)

สีมา” ในทางวินัยของสงฆ์หมายถึงเขตที่สงฆ์กำหนดไว้สำหรับภิกษุทั้งหลายที่อยู่ภายในเขตนั้นจะต้องทำสังฆกรรมร่วมกัน เรียกให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ “ห้องประชุมของสงฆ์

ตามความหมายนี้ “สีมา” ก็คือสถานที่ซึ่งเรารู้จักกันว่า “โบสถ์” นั่นเอง

สีมา แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่คือ

1 “พัทธสีมา” (พัด-ทะ-) แปลตามศัพท์ว่า “แดนที่ผูกแล้ว” ได้แก่ เขตที่สงฆ์กำหนดขึ้นเอง โดยทำนิมิตคือสิ่งที่เป็นเครื่องหมายกำหนดเอาไว้ (ก็คือที่เราเรียกกันว่า “ลูกนิมิต” และงานที่รู้จักกันดีคืองานปิดทองฝังลูกนิมิต) จะเข้าใจง่ายๆ ว่า พัทธสีมาก็คือโบสถ์ที่สร้างเสร็จแล้วและทำพิธีฝังลูกนิมิตแล้ว – อย่างนี้ก็ได้

2 “อพัทธสีมา” (อะ-พัด-ทะ-) แปลตามศัพท์ว่า “แดนที่ไม่ได้ผูก” หมายถึงใช้สิ่งที่มีอยู่ในทางธรรมชาติ เช่น ลำธาร ต้นไม้ จอมปลวก เป็นแนวกำหนดบริเวณที่สงฆ์จะใช้เป็นที่ประชุมทำสังฆกรรม – ตามความหมายนี้ จะเข้าใจง่ายๆ ว่าเป็น “โบสถ์ชั่วคราว” ก็ได้ (อพัทธสีมา จะมีในระยะแรกที่การประดิษฐานคณะสงฆ์ยังไม่เป็นหลักฐานมั่นคง ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว)

คำที่เกี่ยวข้องกับ “สีมา” ที่น่ารู้อีกคำหนึ่ง คือ “วิสุงคามสีมา

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

บาลีวันละคำ (106)

22-8-55

สีมา = สีมา, ขอบเขต, เขตแดน (โอธิ มริยาท สีม) (ศัพท์วิเคราะห์)

สียเต สมคฺเคน กมฺมวาจาย พนฺธียเตติ สีมา ขอบเขตอันสงฆ์พร้อมเพรียงกันผูกไว้ด้วยการสวดกรรมวาจา

สี ธาตุ ในความหมายว่าผูก ม ปัจจัย, อา อิต.

สีมา

เขตกำหนดความพร้อมเพรียงของสงฆ์, เขตชุมนุมของสงฆ์, เขตที่สงฆ์ตกลงไว้สำหรับภิกษุทั้งหลายที่อยู่ภายในเขตนั้นจะต้องทำสังฆกรรมร่วมกัน แบ่งเป็น ๒ ประเภทใหญ่คือ

๑. พัทธสีมา แดนที่ผูก ได้แก่ เขตที่สงฆ์กำหนดขึ้นเอง

๒.อพัทธสีมา แดนที่ไม่ได้ผูก ได้แก่เขตที่ทางบ้านเมืองกำหนดไว้แล้วตามปกติของเขา หรือที่มีอย่างอื่นในทางธรรมชาติเป็นเครื่องกำหนด สงฆ์ถือเอาตามกำหนดนั้นไม่วางกำหนดขึ้นเองใหม่ (ประมวลศัพท์)

พัทธสีมา

“แดนผูก” ได้แก่ เขตที่สงฆ์กำหนดขึ้นเอง โดยจัดตั้งนิมิตคือสิ่งที่เป็นเครื่องหมายกำหนดเอาไว้; ดู สีมา

เขตกำหนดความพร้อมเพรียงสงฆ์, เขตชุมนุมของสงฆ์, เขตที่สงฆ์ตกลงไว้สำหรับภิกษุทั้งหลายที่อยู่ภายในเขตนั้นจะต้องทำสังฆกรรมร่วมกัน แบ่งเป็น ๒ ประเภทใหญ่คือ

๑. พัทธสีมา แดนที่ผูก ได้แก่ เขตที่สงฆ์กำหนดขึ้นเอง

๒.อพัทธสีมา แดนที่ไม่ได้ผูก ได้แก่เขตที่ทางบ้านเมืองกำหนดไว้แล้วตามปกติของเขา หรือที่มีอย่างอื่นในทางธรรมชาติเป็นเครื่องกำหนด สงฆ์ถือเอาตามกำหนดนั้นไม่วางกำหนดขึ้นเองใหม่ (ประมวลศัพท์)

สีมา

  น. เขต, แดน; เครื่องหมายบอกเขตโบสถ์ มักทําด้วยแผ่นหินหรือหลักหินเป็นต้น เรียกว่า ใบพัทธสีมา, ใบสีมา หรือ ใบเสมา ก็ว่า. (ป., ส.).

พัทธสีมา

  น. เขตที่สงฆ์กำหนดผูกขึ้นเพื่อใช้ทำสังฆกรรม มีขนาดพอจุภิกษุที่นั่งห่างกันคืบหนึ่ง ๆ ได้ไม่น้อยกว่า ๒๑ รูป.

เสมา ๑

  [เส-มา] น. สีมา, เครื่องหมายบอกเขตโบสถ์; เรียกสิ่งที่มีลักษณะคล้ายใบสีมาที่เรียงกันอยู่บนกําแพงอย่างกําแพงเมืองว่า ใบเสมา; เครื่องประดับหรือเครื่องรางสําหรับห้อยคอ มีรูปร่างอย่างใบเสมา. (ป., ส. สีมา).

โบสถ์

  น. สถานที่สําหรับพระสงฆ์ใช้ประชุมทําสังฆกรรม เช่น สวดพระปาติโมกข์ อุปสมบท มีสีมาเป็นเครื่องบอกเขต, อนุโลมเรียกสถานที่ประกอบพิธีกรรมของศาสนาอื่นว่า โบสถ์ เช่น โบสถ์พราหมณ์ โบสถ์คริสต์. (มาจากคําว่า อุโบสถ). (ป. อุโปสถ).

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย