บาลีวันละคำ

บูชายัญ ไม่ใช่ “บูชายันต์” (บาลีวันละคำ 2,580)

บูชายัญ ไม่ใช่ “บูชายันต์

ถ้าพูดคำที่ออกเสียงว่า บู-ชา-ยัน แล้วให้สะกดคำว่า ยัน คงจะมีหลายคนสะกดเป็น “บูชายันต์

“บูชายันต์” เป็นคำที่เขียนผิด

คำที่ถูกต้องคือ “บูชายัญ” -ยั หญิง สะกด

ยัญ” บาลีเป็น “ยญฺญ” อ่านว่า ยัน-ยะ รากศัพท์มาจาก ยชฺ (ธาตุ = บูชา) + ปัจจัย, แปลง ชฺ ที่ ยชฺ เป็น (ยชฺ > ยญฺ)

: ยชฺ + = ยชฺญ > ยญฺญ แปลตามศัพท์ว่า (1) “การบูชา” (2) “ของเป็นเครื่องบูชา

ยญฺญ” (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การบูชาหรือสังเวยของพวกพราหมณ์ (a brahmanic sacrifice)

(2) การถวายทาน, การทำกุศล, ทานที่ถวายแด่พระสงฆ์หรือภิกษุ (almsgiving, charity, a gift to the Sangha or a bhikkhu)

บาลี “ยญฺญ” สันสกฤตเป็น “ยชฺญ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

ยชฺญ : (คำนาม) การบูชายัญ, พิธีบูชาพลิทาน; a sacrifice, a ceremony in which oblations are presented.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ยัญ, ยัญ-, ยัญญะ : (คำนาม) การเซ่น, การบูชา, การเซ่นสรวงโดยมีการฆ่าสัตว์หรือคนเป็นเครื่องบูชาเรียกว่า บูชายัญ. (ป. ยญฺญ; ส. ยชฺญ).”

ส่วนคำว่า “ยันต์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ยันต์ : (คำนาม) ตารางหรือลายเส้นเป็นตัวเลข อักขระหรือรูปภาพที่เขียน สัก หรือแกะสลักลงบนแผ่นผ้า ผิวหนัง ไม้ โลหะ เป็นต้น ถือว่าเป็นของขลัง เช่น ยันต์ตรีนิสิงเห ยันต์พระเจ้า ๕ พระองค์, เรียกเสื้อหรือผ้าเป็นต้นที่มีลวดลายเช่นนั้นว่า เสื้อยันต์ ผ้ายันต์, เรียกกิริยาที่ทำเช่นนั้นว่า ลงเลข ลงยันต์.”

ขยายความ :

ในพระพุทธศาสนา มีหลักคำสอนอันเกี่ยวเนื่องมาจากการบูชายัญของพราหมณ์ ขอยกความในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [187] สังคหวัตถุของผู้ครองแผ่นดิน หรือ ราชสังคหวัตถุ 4 มาแสดงไว้ในที่นี้เพื่อเจริญปัญญา ดังนี้

…………..

การบูชายัญของพราหมณ์ เรียกว่า มหายัญ 5 (the five great sacrifices) มีดังนี้ –

1. อัสสเมธะ (การฆ่าม้าบูชายัญ — Assamedha: horse sacrifice)

2. ปุริสเมธะ (การฆ่าคนบูชายัญ — Purisamedha: human sacrifice)

3. สัมมาปาสะ (ยัญอันสร้างแท่นบูชาในที่ขว้างไม้ลอดบ่วงไปหล่นลง — Sammāpāsa: pegthrown site sacrifice)

4. วาชเปยะ (การดื่มเพื่อพลังหรือเพื่อชัย — Vājapeya: drinking of strength or of victory)

5. นิรัคคฬะ หรือ สรรพเมธะ (ยัญไม่มีลิ่มสลัก คือ ทั่วไปไม่มีขีดขั้นจำกัด, การฆ่าครบทุกอย่างบูชายัญ — Niraggaḷa or Sabbamedha: the bolts-withdrawn sacrifice; universal sacrifice)

มหายัญของพราหมณ์นี้ พระพุทธศาสนาสอนว่า เดิมทีเดียวเป็นหลักการสงเคราะห์ที่ดีงาม แต่พราหมณ์สมัยหนึ่งดัดแปลงเป็นการบูชายัญเพื่อผลประโยชน์ในทางลาภสักการะแก่ตน

พระพุทธศาสนาสอนธรรมะโดยใช้ศัพท์แบบเดียวกัน แต่ความหมายต่างกัน เรียกว่า “ราชสังคหวัตถุ” คือหลักธรรมของผู้ครองแผ่นดินอันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจประชาชน หรือหลักการสงเคราะห์ประชาชนของนักปกครอง (Rāja-saṅgahavatthu: a ruler’s bases of sympathy; royal acts of doing favours: virtues making for national integration) มีดังนี้ –

1. สัสสเมธะ (ความฉลาดในการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร ส่งเสริมการเกษตร — Sassamedha: shrewdness in agricultural promotion)

2. ปุริสเมธะ (ความฉลาดในการบำรุงข้าราชการ รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ — Purisamedha: shrewdness in the promotion and encouragement of government officials)

3. สัมมาปาสะ (ความรู้จักผูกผสานรวมใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพ เช่น ให้คนจนกู้ยืมทุนไปสร้างตัวในพาณิชยกรรม เป็นต้น — Sammāpāsa: “a bond to bind men’s hearts”; act of doing a favour consisting in vocational promotion as in commercial investment)

4. วาชเปยะ หรือ วาจาเปยยะ (ความมีวาจาอันดูดดื่มน้ำใจ น้ำคำควรดื่ม คือ รู้จักพูด รู้จักปราศรัย ไพเราะ สุภาพนุ่มนวล ประกอบด้วยเหตุผล มีประโยชน์ เป็นทางแห่งสามัคคี ทำให้เกิดความเข้าใจอันดี และความนิยมเชื่อถือ — Vājapeya: affability in address; kindly and convincing speech)

ส่วนข้อที่ 5 คือ “นิรัคคฬะ” ตามหลักราชสังคหวัตถุนี้ว่าเป็นผล แปลว่า “ไม่มีลิ่มกลอน” หมายความว่า เมื่อดำเนินตามราชสังคหวัตถุทั้ง 4 ข้อแล้ว บ้านเมืองจะสงบสุขปราศจากโจรผู้ร้าย ไม่ต้องระแวงภัย บ้านเรือนไม่ต้องลงกลอน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: บูชาเทวดาเพื่อแสดงถึงความมีน้ำใจไมตรี

: แต่ถ้าหวังผลสำเร็จอันดี อย่ารอให้เทวดาบันดาล

#บาลีวันละคำ (2,580)

6-7-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *