บาลีวันละคำ

วิสุํ วิสุํ รกฺขณตฺถาย (บาลีวันละคำ 108)

วิสุํ วิสุํ รกฺขณตฺถาย

อ่านว่า วิ-สุง-วิ-สุง-รัก-ขะ-นัด-ถา-ยะ

วิสุํ วิสุํ” (วิสุง วิสุง) แปลว่า คนละส่วน, ต่างหาก, แยกออก, แยกจากกัน

รกฺขณตฺถาย” ประกอบด้วย รกฺขณ (การรักษา) + อตฺถ (ประโยชน์, ความหมาย, ความมุ่งหมาย)

อตฺถ เปลี่ยนรูปตามกฎเกณฑ์ไวยากรณ์ เป็น อตฺถาย = รกฺขณตฺถาย

วิสุํ วิสุํ (วิสุง วิสุง) อยู่ข้างหน้า แยกเป็นคนละศัพท์กัน แต่พูดรวมกันเป็น วิสุํ วิสุํ รกฺขณตฺถาย

วิสุํ วิสุํ รกฺขณตฺถาย” เป็นส่วนหนึ่งของคำอาราธนาศีลที่ชาวพุทธคุ้นกันดี แปลกันว่า “เพื่อประโยชน์แก่การรักษาแยกเป็นส่วนๆ

มีผู้อธิบายว่า ถือศีลแบบวิสุงวิสุง ศีลข้อไหนขาดก็ขาดเฉพาะข้อนั้น เหมือนเหรียญบาท 5 อัน อันไหนหายก็หายเฉพาะบาทเดียว แต่ถ้าถือแบบไม่มีวิสุงวิสุง ขาดข้อเดียวเท่ากับขาดหมดทุกข้อ เหมือนเหรียญ 5 บาท ถ้าหายก็หายหมดทั้ง 5 บาท

จากการวิเคราะห์ความหมายโดยถี่ถ้วนแล้ว ถือศีลแบบวิสุงวิสุง หมายความว่า ในการขอศีล (อาราธนาศีล) นั้น ขอครบทุกข้อ แต่ในการรับ หรือการถือ บางคนถือได้ครบทุกข้อ บางคนถือได้เพียงบางข้อ จึงต้องแสดงเจตนาให้พระสงฆ์ท่านทราบไว้ตั้งแต่ต้น ว่าผู้รับศีลจะขอถือศีลโดยแยกเป็นพวกๆ ตามความสามารถ คือถือได้ครบก็มี ถือได้เพียงบางข้อก็มี

ถ้าไม่มี “วิสุง วิสุง” (แยกเป็นพวกๆ) ก็จะเป็นการกล่าวมุสาวาทแก่พระไป คือขอครบ แต่รับไม่ครบ

ขอศีลแบบ “วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ” จึงเป็นการแสดงเจตนาบริสุทธิ์ตั้งแต่ต้น คนที่ถือได้ไม่ครบทุกข้อ ก็ยังรับศีลได้เช่นเดียวกัน ไม่ถูกตัดโอกาสที่จะทำความดี

: วันนี้ถือศีลได้ไม่ครบทุกข้อ

: แต่ถ้ายังไม่ย่อท้อ วันหนึ่งก็ต้องถือได้ครบ

บาลีวันละคำ (108)

24-8-55

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย