อุตฺตริมนุสฺสธมฺม (บาลีวันละคำ 114)
อุตฺตริมนุสฺสธมฺม
อ่านว่า อุด-ตะ-ริ-มะ-นุด-สะ-ทำ-มะ
ในภาษาไทยใช้ว่า “อุตริมนุสธรรม” อ่านว่า อุด-ตะ-หฺริ-มะ-นุด-สะ-ทำ
คำนี้ประกอบด้วยคำว่า อุตฺตริ + มนุสฺส + ธมฺม = อุตฺตริมนุสฺสธมฺม
“อุตฺตริ” แปลว่า นอกเหนือ, เหนือขึ้นไป, พ้นไป, ยิ่งไปกว่านั้น, ไกลไปกว่านั้น
(คำว่า มนุสฺส และ ธมฺม เป็นที่เข้าใจกันอยู่แล้ว)
“อุตริมนุสธรรม” แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมอันยวดยิ่งของมนุษย์” “ธรรมของมนุษย์ผู้ยอดยิ่ง” “ธรรมล้ำมนุษย์” หมายถึงฌาน วิโมกข์ สมาบัติ มรรคผล บางทีเรียกให้ง่ายว่า ธรรมวิเศษ บ้าง คุณวิเศษ หรือ คุณพิเศษ บ้าง
มีสิกขาบทบัญญัติไว้ว่า ห้ามภิกษุอวดอุตริมนุสธรรม
ถ้าไม่มีคุณพิเศษตามที่อวด มีโทษถึงขาดจากความเป็นพระ ที่เรียกว่า “ต้องอาบัติปาราชิก”
แม้จะมีคุณพิเศษจริงตามที่อวด ก็ยังต้องอาบัติอยู่นั่นเอง
พระสงฆ์ที่ท่านรักษาศีลอย่างเคร่งครัด ท่านจึงระมัดระวังมาก ไม่เอ่ยถึงคุณธรรมพิเศษ หรือความสามารถทางด้านจิตใดๆ ที่ได้บรรลุให้ใครฟัง
ผู้ที่เอ่ยอ้างถึงคุณพิเศษของตัวเองให้คนอื่นฟัง เช่นตนรู้ว่าคนนั้นตายไปเกิดเป็นเทวดา เทพองค์นี้เมื่อชาติก่อนเคยเกิดเป็นคนนั้น อะไรทำนองนี้ ถ้าเป็นพระก็มักมีผู้เลื่อมใสนับถือว่าท่านเก่ง ท่านรู้อดีตอนาคต
ความจริงท่านกำลังเหยียบย่ำพุทธบัญญัติเดินเฉียดปากเหว (หรือตกเหวลงไปแล้ว) โดยไม่รู้ตัว ดังนั้น จะศรัทธาเลื่อมใสท่านผู้ใด จึงต้องมีปัญญากำกับไว้ด้วย
มีคำไทยพูดว่า “อุตริ” (อุด-ตะ-หฺริ) หมายถึงนอกคอก นอกทาง นอกรีต ก็มีต้นเหตุมาจากเรื่องอวดอุตริมนุสธรรมนี้แล
บาลีวันละคำ (114)
30-8-55
อุตตริมนุสสธรรม
ธรรมยวดยิ่งของมนุษย์, ธรรมของมนุษย์ผู้ยอดยิ่ง, ธรรมล้ำมนุษย์ ได้แก่ ฌาน วิโมกข์ สมาบัติ มรรคผล, บางทีเรียกให้ง่ายว่า ธรรมวิเศษ บ้าง คุณวิเศษ หรือ คุณพิเศษ บ้าง (พจนานุกรมเขียน อุตริมนุสสธรรม) (ประมวลศัพท์)
อุตฺตริ
นอกเหนือ, เหนือขึ้นไป, พ้นไป, เสริม, ยิ่งไปกว่านั้น, ไกลไปกว่านั้น, นอกจาก (บาลี-อังกฤษ)
อุตฺตริมนุสฺสธมฺม
คุณอันยวดยิ่งของมนุษย์, คุณวิเศษเกินวิสัยของมนุษย์, มีลักษณะอันนอกเหนือความสามารถของมนุษย์, มหัศจรรย์, อันเหลือล้น (บาลี-อังกฤษ)
อุตริ
[อุดตะหฺริ] ว. นอกคอก, นอกทาง, นอกรีต. (ป., ส. อุตฺตริ ว่า ยิ่ง).
อุตริมนุสธรรม
[-มะนุดสะทํา] น. คุณอย่างยวดยิ่งของมนุษย์ ได้แก่ธรรมวิเศษมีการสําเร็จฌาน สําเร็จมรรคผลเป็นต้น. (ป. อุตฺตริ + มนุสฺส + ธมฺม; ส. อุตฺตริ + มนุษฺย + ธรฺม).