บาลีวันละคำ

อตฺถกถา (บาลีวันละคำ 130)

อตฺถกถา

อ่านว่า อัด-ถะ-กะ-ถา

ในภาษาไทยนิยมเขียนว่า “อรรถกถา” อ่านเหมือนกัน

อตฺถกถา” ประกอบด้วยคำว่า อตฺถ + กถา = อตฺถกถา

อตฺถ” แปลว่า เนื้อความ, ใจความ, ความหมาย, ความมุ่งหมาย, ผล, ประโยชน์

กถา” แปลว่า ถ้อยคำ, เรื่อง, คำกล่าว, คำอธิบาย

อตฺถกถาอรรถกถา” แปลตามศัพท์ว่า “คำอธิบายความหมาย

อรรถกถา” ไม่ใช่ชื่อคัมภีร์เล่มใดเล่มหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นคัมภีร์อธิบายความในพระไตรปิฎก = คัมภีร์เล่มไหนแต่งขึ้นเพื่ออธิบายความในพระไตรปิฎก ก็เรียกคัมภีร์เล่มนั้นว่า “อรรถกถา

เช่น ชาตกัฏฐกถา (ชา-ตะ-กัด-ถะ-กะ-ถา) = อรรถกถาชาดก คือคัมภีร์ที่อธิบาย/เล่าเรื่องในชาดกเป็นต้น

คัมภีร์อรรถกถามีชื่อเฉพาะเล่มด้วย เช่น –

สมันตปาสาทิกา” เป็นชื่ออรรถกถาพระวินัยปิฎก

สุมังคลวิลาสินี” เป็นชื่ออรรถกถาคัมภีร์ทีฆนิกาย (คัมภีร์แรกของพระสุตตันตปิฎกหรือพระสูตร)

อัฏฐสาลินี” เป็นชื่ออรรถกถาคัมภีร์ธรรมสังคณี (คัมภีร์แรกของพระอภิธรรมปิฎก) เป็นต้น

คัมภีร์อรรถกถาต้นฉบับเป็นภาษาบาลี พิมพ์เป็นอักษรไทยในเวลานี้มีประมาณ 60 เล่ม

บาลีวันละคำ (130)

15-9-55

อรรถ

เนื้อความ, ใจความ, ความหมาย, ความมุ่งหมาย, ผล, ประโยชน์

(ประมวลศัพท์)

อรรถ, อรรถ-

  [อัด, อัดถะ-] น. เนื้อความ เช่น แปลโดยอรรถ, คําที่ยังไม่ได้แปลความหมาย เช่น คําอรรถ. (ส. อรฺถ; ป. อตฺถ).

กถา

  [กะ-] น. ถ้อยคํา, เรื่อง, คําอธิบาย, คํากล่าว. (ป.).

กถา

ถ้อยคำ, เรื่อง, คำกล่าว, คำอธิบาย

(ประมวลศัพท์)

อรรถกถา

  [อัดถะกะถา] น. คัมภีร์ที่อธิบายความพระบาลี, คัมภีร์ที่ไขความพระไตรปิฎก. (ส. อรฺถ + กถา; ป. อตฺถกถา, อฏฺกถา).

อรรถกถา

คำอธิบายอรรถคือความหมาย ของพระบาลี อันได้แก่พุทธพจน์ รวมทั้งข้อความและเรื่องราวเกี่ยวข้องแวดล้อมที่รักษาสืบทอดมาในพระไตรปิฎก, คัมภีร์อธิบายความในพระไตรปิฎก; ในภาษาบาลีเขียน อฏฺฐกถา, มีความหมายเท่ากับคำว่า อตฺถวณฺณนา หรือ อตฺถสํวณฺณนา

        อรรถกถามีมาเดิมสืบแต่พุทธกาล เป็นของเนื่องอยู่ด้วยกันกับการศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า กล่าวคือ ในพุทธกาล เมื่อพระอาจารย์นำพุทธพจน์มาสอนแก่นิสิต หรือตอบคำถามของศิษย์เกี่ยวกับพุทธพจน์นั้น คำอธิบายของพระอาจารย์ก็เป็นอรรถกถา คำอธิบายที่สำคัญของพระสาวกผู้ใหญ่ อันเป็นที่ยอมรับนับถือเป็นหลัก ก็ได้รับการถ่ายทอดรักษาผ่านการสังคายนาสืบต่อมา

        ไม่เฉพาะคำอธิบายของพระสาวกเท่านั้น แม้ถึงพระดำรัสอธิบายของพระพุทธเจ้าเอง ซึ่งอธิบายพุทธพจน์อื่นที่มีอยู่ก่อนแล้ว ก็ถือว่าเป็นอรรถกถาด้วย คำอธิบายที่เป็นเรื่องใหญ่บางเรื่องสำคัญมากถึงกับจัดรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งในพระไตรปิฎก ดังที่ท่านเล่าไว้คือ “อัฏฐกถากัณฑ์” ซึ่งเป็นภาคหรือคัมภีร์ย่อยที่ ๓ ในคัมภีร์ธัมมสังคณี แห่งพระอภิธรรมปิฎก (พระไตรปิฎก เล่ม ๓๔, อัฏฐกถากัณฑ์นี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า “อัตถุทธารกัณฑ์” และพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐได้เลือกใช้ชื่อหลัง) ตามเรื่องที่ท่านบันทึกไว้ว่า (สงฺคณี.อ.๔๖๖) สัทธิวิหาริกรูปหนึ่งของพระสารีบุตรไม่สามารถกำหนดจับคำอธิบายธรรมในภาคหรือคัมภีร์ย่อยที่ ๒ ที่ชื่อว่านิกเขปกัณฑ์ ในคัมภีร์ธัมมสังคณีนั้น พระสารีบุตรจึงพูดให้ฟัง ก็เกิดเป็นอัฏฐกถากัณฑ์หรืออัตถุทธารกัณฑ์นั้นขึ้นมา (แต่คัมภีร์มหาอัฏฐกถากล่าวว่า พระสารีบุตรพาสัทธิวิหาริกรูปนั้นไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และพระองค์ตรัสแสดง), คัมภีร์มหานิทเทส (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๙) และจูฬนิทเทส (พระไตรปิฎก เล่ม ๓๐) ก็เป็นคำอธิบายของพระสารีบุตร ที่ไขและขยายความแห่งพุทธพจน์ในคัมภีร์สุตตนิบาต (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕, อธิบายเฉพาะ ๓๒ สูตร ในจำนวนทั้งหมด ๗๑ สูตร)

        อรรถกถาทั้งหลายแต่ครั้งพุทธกาลนั้น ได้พ่วงมากับพระไตรปิฎกผ่านการสังคายนาทั้ง ๓ ครั้ง จนกระทั่งเมื่อพระมหินทเถระไปประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕ ก็นำอรรถกถาเหล่านั้น ซึ่งยังเป็นภาษาบาลี พ่วงไปกับพระไตรปิฎกบาลีด้วย แต่เมื่อพระพุทธศาสนาสืบมาในลังกาทวีป พระสงฆ์ที่นั่นรักษาเฉพาะพระไตรปิฎกให้คงอยู่อย่างเดิมในภาษาบาลี ส่วนอรรถกถาซึ่งเป็นคัมภีร์ประกอบที่จะใช้ศึกษาพระไตรปิฎก จะสำเร็จประโยชน์ได้ดีต่อเมื่อเป็นภาษาของผู้เล่าเรียน คือภาษาสิงหฬ ดังนั้น ต่อมา อรรถกถาทั้งหลายก็แปรเปลี่ยนไปเป็นภาษาสิงหฬทั้งหมด

        ต่อมา พระพุทธศาสนาในชมพูทวีปเสื่อมลง แม้ว่าพระไตรปิฎกจะยังคงอยู่  แต่อรรถกถาได้สูญสิ้นหมดไป ครั้งนั้น มีพระภิกษุรูปหนึ่ง ออกบวชจากตระกูลพราหมณ์ เล่าเรียนพระไตรปิฎกแล้ว มีความเชี่ยวชาญจนปรากฏนามว่า “พุทธโฆส” ได้เรียบเรียงคัมภีร์ชื่อว่าญาโณทัย (คัมภีร์มหาวงส์กล่าวว่าท่านเรียบเรียงอรรถกถาแห่งคัมภีร์ธัมมสังคณี ชื่อว่าอัฏฐสาลินีในคราวนั้นด้วย แต่ไม่สมจริง เพราะอัฏฐสาลินีอ้างวิสุทธิมัคค์ และอ้างสมันตปาสาทิกา มากมายหลายแห่ง จึงคงต้องแต่งทีหลัง) เสร็จแล้วเริ่มจะเรียบเรียงอรรถกถาแห่งพระปริตรขึ้น อาจารย์ของท่าน ซึ่งมีชื่อว่าพระเรวตเถระ บอกว่า อรรถกถามีอยู่บริบูรณ์ในลังกาทวีป เป็นภาษาสิงหฬ และให้ท่านไปแปลเป็นภาษาบาลีแล้วนำมายังชมพูทวีป

        พระพุทธโฆสได้เดินทางไปยังลังกาทวีปในรัชกาลของพระเจ้ามหานาม (พ.ศ.๙๕๓–๙๗๕; ปีที่ท่านไป หลักฐานบางแห่งว่า พ.ศ.๙๕๖ แต่บางแห่งว่า พ.ศ. ๙๖๕) พระพุทธโฆสพำนักในมหาวิหาร เมืองอนุราธปุระ ได้สดับอรรถกถาภาษาสิงหฬครบทั้ง มหาอฏฺฐกถา มหาปจฺจรี และกุรุนฺที (อรรถกถาเก่าก่อนเหล่านี้ รวมทั้งสงฺเขปฏฺฐกถาซึ่งเป็นความย่อของมหาปัจจรี และอนฺธกฏฺฐกถาที่พระพุทธโฆสได้คุ้นมาก่อนนั้นแล้ว จัดเป็นโปราณัฏฐกถา) เมื่อจบแล้ว ท่านก็ได้ขอแปลอรรถกถาภาษาสิงหฬ เป็นภาษามคธ แต่สังฆะแห่งมหาวิหารได้มอบคาถาพุทธพจน์ให้ท่านไปเขียนอธิบายก่อน เป็นการทดสอบความสามารถ พระพุทธโฆสได้เขียนขยายความคาถานั้น โดยประมวลความในพระไตรปิฎกพร้อมทั้งอรรถกถามาเรียบเรียงตามหลักไตรสิกขา สำเร็จเป็นคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ ครั้นเห็นความสามารถแล้ว สังฆะแห่งมหาวิหารจึงได้มอบคัมภีร์แก่ท่าน พระพุทธโฆสเริ่มงานแปลใน พ.ศ.๙๗๓ ตั้งต้นที่อรรถกถาแห่งพระวินัยปิฎก (คือสมันตปาสาทิกา, คำนวณปีจาก วินย.อ.๓/๖๓๕) เมื่อทำงานแปลเสร็จพอควรแล้ว ก็เดินทางกลับไปยังชมพูทวีป

        งานแปลของพระพุทธโฆสนั้น แท้จริงมิใช่เป็นการแปลอย่างเดียว แต่เป็นการแปลและเรียบเรียง ดังที่ท่านเองเขียนบอกไว้ว่า ในการสังวรรณนาพระวินัย ท่านใช้มหาอรรถกถาเป็นเนื้อหาหลัก (เป็นสรีระ) พร้อมทั้งเก็บเอาอรรถะที่ควรกล่าวถึงจากข้อวินิจฉัยที่มีในอรรถกถามหาปัจจรี และอรรถกถากุรุนที เป็นต้น (คือรวมตลอดถึงอันธกัฏฐกถา และ  สังเขปัฏฐกถา) อธิบายให้ครอบคลุมประดาเถรวาทะ (คือข้อวินิจฉัยของพระมหาเถระวินัยธรโบราณในลังกาทวีป ถึง พ.ศ.๖๕๓), แต่ในส่วนของพระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมปิฎก อรรถกถาโบราณ (โปราณัฏฐกถา) ภาษาสิงหฬ มีเพียงมหาอรรถกถาอย่างเดียว (มีมหาอรรถกถาในส่วนของคัมภีร์แต่ละหมวดนั้นๆ ซึ่งถือว่าเป็นมูลัฏฐกถา) พระพุทธโฆสจึงใช้มหาอรรถกถานั้น เป็นแกน ข้อความที่ยืดยาวกล่าวซ้ำๆ ก็จับเอาสาระมาเรียบเรียง แปลเป็นภาษามคธ โดยเก็บเอาวาทะ เรื่องราว และข้อวินิจฉัยของพระเถระสิงหฬโบราณ ถึง พ.ศ.๖๕๓ มารวมไว้ด้วย

        พระพุทธโฆสาจารย์เป็นผู้เริ่มต้นยุคอรรถกถาที่กลับมีเป็นภาษาบาลีขึ้นใหม่ แม้ว่าพระพุทธโฆสจะมิได้จัดทำอรรถกถาขึ้นครบบริบูรณ์ แต่ในระยะเวลาใกล้เคียงกันนั้นและต่อจากนั้นไม่นาน ก็ได้มีพระอรรถกถาจารย์รูปอื่นๆ มาทำงานส่วนที่ยังขาดอยู่จนเสร็จสิ้น

        รายชื่ออรรถกถา พร้อมทั้งนามพระเถระผู้รจนา (พระอรรถกถาจารย์) แสดงตามลำดับคัมภีร์ในพระไตรปิฎก ที่อรรถกถานั้นๆ อธิบาย มีดังนี้ (พฆ. หมายถึง พระพุทธโฆสาจารย์)

        ก.พระวินัยปิฎก (ทั้งหมด) สมันตปาสาทิกา (พฆ.)

        ข.พระสุตตันตปิฎก

๑.ทีฆนิกาย สุมังคลวิลาสินี (พฆ.) 

๒.มัชฌิมนิกาย ปปัญจสูทนี (พฆ.)

๓.สังยุตตนิกาย สารัตถปกาสินี (พฆ.)

๔.อังคุตตรนิกาย มโนรถปูรณี (พฆ.) 

๕.ขุททกนิกาย

        ๑.ขุททกปาฐะ ปรมัตถโชติกา (พฆ.)

        ๒.ธรรมบท ธัมมปทัฏฐกถา (*)

        ๓.อุทาน ปรมัตถทีปนี (พระธรรมปาละ)

        ๔.อิติวุตตกะ ปรมัตถทีปนี (พระธรรมปาละ)

        ๕.สุตตนิบาต ปรมัตถโชติกา (พฆ.)

        ๖.วิมานวัตถุ ปรมัตถทีปนี (พระธรรมปาละ)

        ๗.เปตวัตถุ   ปรมัตถทีปนี (พระธรรมปาละ)

        ๘.เถรคาถา ปรมัตถทีปนี (พระธรรมปาละ)

        ๙.เถรีคาถา ปรมัตถทีปนี (พระธรรมปาละ)

        ๑๐.ชาดก ชาตกัฏฐกถา (*)

        ๑๑.นิทเทส สัทธัมมปัชโชติกา (พระอุปเสนะ)

        ๑๒.ปฏิสัมภิทามัคค์ สัทธัมมปกาสินี (พระมหานาม)

        ๑๓.อปทาน วิสุทธชนวิลาสินี (**)

        ๑๔.พุทธวงส์ มธุรัตถวิลาสินี (พระพุทธทัตตะ)

        ๑๕.จริยาปิฎก ปรมัตถทีปนี (พระธรรมปาละ)

        ค.พระอภิธรรมปิฎก

๑.ธัมมสังคณี อัฏฐสาลินี (พฆ.) 

๒.วิภังค์ สัมโมหวิโนทนี (พฆ.)

๓.ห้าคัมภีร์ที่เหลือ ปัญจปกรณัฏฐกถา (พฆ.)

        [พึงทราบ: (*) คือ ธัมมปทัฏฐกถา และชาตกัฏฐกถา นั้น ที่จริงก็มีชื่อเฉพาะว่า ปรมัตถโชติกา และถือกันมาว่าพระพุทธโฆสเป็นผู้เรียบเรียงคัมภีร์ทั้งสองนี้ แต่อาจเป็นได้ว่าท่านเป็นหัวหน้าคณะ โดยมีผู้อื่นร่วมงานด้วย; (**)วิสุทธชนวิลาสินี นั้น นามผู้รจนาไม่แจ้ง แต่คัมภีร์จูฬคันถวงส์ (แต่งในพม่า) ว่าเป็นผลงานของพระพุทธโฆส; มีอรรถกถาอีกเรื่องหนึ่งที่พึงทราบ ซึ่งก็เป็นผลงานของพระพุทธโฆสด้วย คือ กังขาวิตรณี (อรรถกถาแห่งพระปาฏิโมกข์)]

        ต่อจากอรรถกถา ยังมีคัมภีร์ที่อธิบายรุ่นต่อมาอีกหลายชั้นเป็นอันมาก เช่น “ฎีกา” ขยายความต่อจากอรรถกถา “อนุฎีกา” ขยายความต่อจากฎีกา แต่ในที่นี้จะไม่กล่าวถึง เว้นแต่จะขอบอกนามท่านผู้แต่ง “ฎีกา” เฉพาะที่กำหนดให้ใช้เล่าเรียนในหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทย กล่าวคือ สารัตถทีปนี (ฎีกาแห่งวินยัฏฐกถา) ผู้แต่งคือพระอาจารย์ชื่อสารีบุตร (ไม่ใช่พระสารีบุตรมหาสาวก) และปรมัตถมัญชุสา (ฎีกาแห่งวิสุทธิมัคค์ เรียกกันว่ามหาฎีกา) ผู้แต่งคือพระธรรมปาละ (ท่านผู้รจนาปรมัตถทีปนี ที่กล่าวข้างต้น)

(ประมวลศัพท์)

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย