บาลีวันละคำ

อตฺถกถาจริย (บาลีวันละคำ 132)

อตฺถกถาจริย

อ่านว่า อัด-ถะ-กะ-ถา-จะ-ริ-ยะ

ประกอบด้วยคำว่า อตฺถกถา + อาจริย

ในภาษาไทยใช้ว่า “อรรถกถาจารย์” อ่านว่า อัด-ถะ-กะ-ถา-จาน

อรรถกถาจารย์” แปลว่า “อาจารย์ผู้แต่งอรรถกถา

อรรถกถา คือคำอธิบายพระไตรปิฎก เป็นของเนื่องอยู่ด้วยกันกับการศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาแต่เดิม กล่าวคือ ในพุทธกาล เมื่อพระอาจารย์นำพุทธพจน์มาสอนแก่นิสิต หรือตอบคำถามของศิษย์เกี่ยวกับพุทธพจน์นั้น คำอธิบายของพระอาจารย์ก็เป็น “อรรถกถา” และทรงจำสืบทอดควบคู่มากับพระไตรปิฎก คำอธิบายบางเรื่องจัดรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งในพระไตรปิฎกก็มี

เมื่อพระพุทธศาสนาเสื่อมจากอินเดีย ไปตั้งมั่นคงอยู่ในลังกา ชาวพุทธในลังกายังคงรักษาพระไตรปิฎกไว้เป็นภาษาบาลี แต่ศึกษาคำอธิบายพระไตรปิฎกคืออรรถกถาเป็นภาษาสิงหฬ อันเป็นภาษาของชาวลังกา

ในพุทธศตวรรษที่ 10 (ราว พ.ศ.950 กว่าๆ เป็นต้นมา) จึงมีการแปลและเรียบเรียงอรรถกถาจากภาษาสิงหฬกลับเป็นภาษาบาลีอีก

พระเถระที่มีผลงานแปลและเรียบเรียงอรรถกถามากที่สุดคือ พระพุทธโฆสะ นอกจากนี้ก็มีพระธรรมปาละ พระพุทธทัตตะ พระอุปเสนะ และพระมหานาม เป็นต้น

พระเถระเหล่านี้จึงมีคำเรียกขานท่านว่า “อตฺถกถาจริยพระอรรถกถาจารย์ – อาจารย์ผู้แต่งอรรถกถา”

บาลีวันละคำ (132)

17-9-55

อรรถกถาจารย์

  น. อาจารย์ผู้แต่งอรรถกถา.

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย