บาลีวันละคำ

ไปรษณีย์ (บาลีวันละคำ 898)

ไปรษณีย์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ไปรษณีย-, ไปรษณีย์ :

 [ไปฺรสะนียะ-, ไปฺรสะนี] (คำนาม) วิธีการส่งหนังสือและหีบห่อสิ่งของเป็นต้นโดยมีองค์การที่ตั้งขึ้นเป็นเจ้าหน้าที่รับส่ง. (ส. เปฺรษณีย).”

พจนานุกรมบอกว่า “ไปรษณีย์” มาจากสันสกฤตว่า “เปฺรษณีย

ดูใน สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ไม่พบคำว่า “เปฺรษณีย” แต่มีคำว่า “เปฺรษณ” ซึ่งมีรากศัพท์เดียวกัน และบอกไว้ว่า –

เปฺรษณ : (คำนาม) ‘เปรษณ’ การใช้หรือส่งไป; sending or despatching.”

บาลีมีคำว่า “เปสนิย” (เป-สะ-นิ-ยะ) ความหมายเดียวกับ “เปฺรษณีย” ในสันสกฤต

เปสนิย รากศัพท์มาจาก –

(1) ปิสฺ (ธาตุ = ส่งไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อิ ที่ ปิ– เป็น เอ

: ปิสฺ > เปส + ยุ > อน = เปสน แปลตามศัพท์ว่า “การส่งไป” หมายถึง การส่งไป, การส่งสาร; การบริการ (sending out, message; service)

(2) เปสน + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ลง อิ อาคมที่

: เปสน + อิ = เปสนิ + ณฺย > = เปสนิย แปลตามศัพท์ว่า “อันควรส่งไป” ใช้ในความหมายว่า -เกี่ยวกับข่าวสาร, ส่งสารไป (connected with messages, going messages)

เมื่อเอ่ยถึง “ไปรษณีย์” เราคงนึกถึงคำอังกฤษว่า post

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี มีคำแปลดังนี้ –

(1) post (ที่หมายถึงไปรษณีย์) : sāsanaharaṇa สาสนหรณ (สา-สะ-นะ-หะ-ระ-นะ) = การนำข่าวไป, การส่งข่าว

(2) post man (post man) : sāsanabhājaka สาสนภาชก (สา-สะ-นะ-พา-ชะ-กะ) = ผู้จ่ายข่าว, ผู้นำข่าวไปส่ง

โปรดสังเกต :

บุรุษไปรษณีย์” เราบัญญัติมาจากคำว่า post man

: post = ไปรษณีย์

: man = บุรุษ

แต่ post man ไม่ได้แปลเป็นบาลีว่า ปุริสเปสนีย (ตรงตัวคำว่า “บุรุษไปรษณีย์”) หรือ เปสนิยปุริส (ตามหลักการเรียงคำแบบบาลี) ถ้าใครแปลแบบนี้ก็จะกลายเป็น “บาลีไทย” ทันที หมายถึงบาลีที่แต่งตามสำนวนไทย ไม่ใช่สำนวนบาลีแท้ ทำนองเดียวกับอังกฤษสำนวนเมียเช่า

: รถ = car

: สวน = garden

: รถสวน (ระวัง มีรถสวนมา !) = car garden !

ปัจจุบันไปรษณีย์ไม่ได้บริการเฉพาะรับส่งข่าวสารเท่านั้น แต่ยังมีบริการส่งของอื่นๆ ไปทั่วโลกด้วย

: ทำบุญทุกวันวี่ เหมือนจองไปรษณีย์ไปส่งสวรรค์

: ทำบาปทุกวี่วัน จองเหมือนกัน-แต่ไปส่งนรก

#บาลีวันละคำ (898)

2-11-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *