บาลีวันละคำ

ฉพฺพณฺณรํสิ (บาลีวันละคำ 136)

ฉพฺพณฺณรํสิ

อ่านว่า ฉับ-พัน-นะ-รัง-สิ

ภาษาไทยใช้ว่า “ฉัพพรรณรังสี” (ฉับ-พัน-นะ-รัง-สี)

ประกอบด้วย ฉ + วณฺณ + รํสิ = ฉพฺพณฺณรํสิ

ฉ = 6 (จำนวนหก)

วณฺณ = ผิว, สี, เพศ, ชนิด, พวก, เหล่า, หนังสือ, คุณความดี, ความยกย่องสรรเสริญ, วรรณะ (ชั้นชนในสังคมฮินดู แบ่งเป็น 4 วรรณะ คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร)

ในที่นี้ วณฺณ หมายถึง “สี”

ฉ + วณฺณ แปลง ว เป็น พ และซ้อน พ = ฉพฺพณฺณ เขียนแบบไทย “ฉัพพรรณ”

รํสิ = รัศมี, รังสี, แสง, แสงสว่าง

“ฉพฺพณฺณรํสิ – ฉัพพรรณรังสี” แปลตามศัพท์ว่า “แสงที่มีหกสี”

“ฉัพพรรณรังสี” หมายถึงรัศมี 6 สี ซึ่งเปล่งออกจากพระวรกายของพระพุทธเจ้า คือ

1 นีละ เขียวเหมือนดอกอัญชัน

2 ปีตะ เหลืองเหมือนหรดาลทอง

3 โลหิตะ แดงเหมือนตะวันอ่อน

4 โอทาตะ ขาวเหมือนแผ่นเงิน

5 มัญเชฐ สีหงสบาท เหมือนดอกเซ่งหรือหงอนไก่

6 ประภัสสร เลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก

บางประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา ใช้เครื่องหมาย “ฉัพพรรณรังสี” เป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธศาสนา เหมือนที่ไทยเราใช้ตราพระธรรมจักร

ระวัง : ฉัพพรรณรังสี อย่าพูดเป็น “ฉับพลันรังสี” หรือ “รังสีฉับพลัน” ความหมายจะไปคนละโลก

บาลีวันละคำ (136)

21-9-55

วณฺณ ป.

ผิว, สี, ชนิด, วรรณะ (พจนานุกรมศัพท์บาลี)

วรรณะ

ผิว, สี, เพศ, ชนิด, พวก, เหล่า, หนังสือ, คุณความดี, ความยกย่องสรรเสริญ; ชนชั้นที่จัดแบ่งออกไปตามหลักศาสนาพราหมณ์เรียกว่า วรรณะ ๔ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร (ประมวลศัพท์)

รํสิ

สันสกฤตเป็น รศฺมิ รูป รํสิ เป็นรูปบาลีที่ถูกต้อง มีกำเนิดมาจาก รศฺมิ โดยเปลี่ยนถ้อยคำภายใน เหมือน อมฺหิ แทน อสฺมิ ตมฺหา แทน ตสฺมา ฯลฯ รูป รสฺมิ เป็นรูปที่ใช้ตามสันสกฤต และใช้ในโอกาสต่อมา (บาลี-อังกฤษ)

รํสิ อิต.

รัศมี, รังสี, แสงสว่าง. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)

รังสิ, รังสี

  น. แสง, แสงสว่าง. (ป. รํสิ; ส. รศฺมี).

นีลปีตโลหิโตทาตมญฺเชฏฺฐฺปภสฺสรานฺ  วเสน  ฉพฺพณฺณา  พุทฺธรสิโย 

ขุทฺทกนิกายฏฺฐฺกถา อุทานวณฺณนา (ปรมตฺถทีปนี) – หน้าที่ 420

เล่มที่  ๑๙  มหาวคฺควณฺณนา  หน้า  ๔๒๐

ฉัพพรรณรังสี

รัศมี ๖ ประการ ซึ่งเปล่งออกจากพระวรกายของพระพุทธเจ้า คือ

๑. นีละ เขียวเหมือนดอกอัญชัน

๒. ปีตะ เหลืองเหมือนหรดาลทอง

๓. โลหิตะ แดงเหมือนตะวันอ่อน

๔. โอทาตะ ขาวเหมือนแผ่นเงิน

๕. มัญเชฐ สีหงสบาท เหมือนดอกเซ่งหรือหงอนไก่

๖. ประภัสสร เลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก (ประมวลศัพท์)

ฉัพพรรณรังสี

  [ฉับพันนะ-] (แบบ) น. รัศมี ๖ ประการ คือ ๑. นีล เขียวเหมือนดอกอัญชัน ๒. ปีต เหลืองเหมือนหรดาลทอง ๓. โลหิต แดงเหมือนตะวันอ่อน ๔. โอทาต ขาวเหมือนแผ่นเงิน ๕. มัญเชฐ สีหงสบาทเหมือนดอกเซ่งหรือหงอนไก่ ๖. ประภัสสร เลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก. (ปฐมสมโพธิ). (ป. ฉพฺพณฺณรํสี).

วรรณ-, วรรณะ

  [วันนะ-] น. สี เช่น เบญจวรรณ แปลว่า ๕ สี, มักใช้เข้าคู่กับคำ สีสัน เป็น สีสันวรรณะ; ผิว เช่น ขอให้เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ, มักใช้เข้าคู่กับคำ ผิวพรรณ เป็น ผิวพรรณวรรณะ; ชั้นชน, ในสังคมฮินดูแบ่งคนออกเป็น ๔ วรรณะ คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร; หนังสือ เช่น วรรณกรรม วรรณคดี. (ส. วรฺณ; ป. วณฺณ).

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย