บาลีวันละคำ

ธุดงควัตร (บาลีวันละคำ 4,562)

ธุดงควัตร

เมื่อไรจะขจัดความเข้าใจผิดได้เสียที

อ่านว่า ทุ-ดง-คะ-วัด

ประกอบด้วยคำว่า ธุดงค + วัตร

(๑) “ธุดงค” 

บาลีเป็น “ธุตงฺค” อ่านว่า ทุ-ตัง-คะ (และเป็น “ธูตงฺค” ก็มี ต่างกันที่ ธุ– กับ ธู-) แยกศัพท์เป็น ธุต + องฺค

(ก) “ธุต” รากศัพท์มาจาก ธุ (ธาตุ = กำจัด) + ปัจจัย 

: ธุ + = ธุต แปลตามศัพท์ว่า “กำจัดอกุศลธรรม” 

ธุต” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ 

(1) สั่น, เคลื่อนไหว (shaken, moved)

(2) ขจัดออก (shaken off)

(ข) “องฺค” อ่านว่า อัง-คะ รากศัพท์มาจาก องฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป; รู้) + (อะ) ปัจจัย

: องฺคฺ + = องฺค แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างที่เดินได้” (2) “เหตุเป็นเครื่องรู้ที่เกิด” คือทำให้รู้ต้นกำเนิด (3) “ส่วนอันเขารู้ว่าเป็นอวัยวะ” 

องฺค” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีหมายถึง ส่วนของร่างกาย, แขนขา, ชิ้นส่วน, ส่วนประกอบ, เหตุ, เครื่องหมาย (part of the body, a limb, part, member, cause, reason, status symbol); ส่วนประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ หรือขององค์ (a constituent part of a whole or system or collection)

องฺค” ในภาษาไทยใช้เป็น “องค์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

(๑) ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ, (ราชาศัพท์) ตัว (ใช้แก่หม่อมเจ้า) เช่น รู้สึกองค์ แต่งองค์.

(๒) ส่วนย่อยที่เป็นองค์ประกอบ เช่น มรรคมีองค์ ๘.

(๓) ในราชาศัพท์ใช้เป็นลักษณนามเรียกอวัยวะ สิ่งของ หรือคำพูด เป็นต้น ของกษัตริย์หรือเจ้านาย เช่น พระทนต์ ๑ องค์ (ฟัน ๑ ซี่) พระสุพรรณภาชน์ ๑ องค์ พระศรี ๑ องค์ (หมาก ๑ คำ) พระที่นั่ง ๑ องค์ พระบรมราโชวาท ๒ องค์.

(๔) ลักษณนามใช้เรียกสิ่งที่เคารพบูชาบางอย่างในทางศาสนา เช่น พระพุทธรูป ๑ องค์ พระเจดีย์ ๒ องค์, (ภาษาปาก) ลักษณนามใช้เรียกภิกษุสามเณร เช่น ภิกษุ ๑ องค์.

ธุต + องฺค = ธุตงฺค (ทุ-ตัง-คะ) แปลว่า “องค์แห่งการกำจัดกิเลส

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ธุตงฺค” ว่า a set of practices leading to the state of or appropriate to a dhuta, that is to a scrupulous person (ข้อปฏิบัติต่าง ๆ ซึ่งน่าไปสู่ภาวะหรือเหมาะกับ “ธุต”, คือคนพิถีพิถัน)

บาลี “ธุตงฺค” (มีรูปคำเป็น “ธูตงฺค” ด้วย) ใช้ในภาษาไทยเป็น “ธุดงค์

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปลคำว่า “ธุดงค์” เป็นอังกฤษว่า Austere Practices; constituents of ascetic practice to remove defilements.

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ธุดงค-, ธุดงค์ : (คำนาม) องค์ประกอบเครื่องกำจัดกิเลส, ชื่อวัตรปฏิบัติอย่างเคร่งครัดของภิกษุซึ่งเป็นเครื่องกำจัดกิเลส มี ๑๓ อย่าง เช่น การอยู่ในป่า การอยู่โคนไม้. (ป. ธูตงฺค).”

(๒) “วัตร

(ก) บาลีเป็น “วตฺต” (วัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก วตฺตฺ (ธาตุ = ถือเอา, ประพฤติ) + (อะ) ปัจจัย

: วตฺต + = วตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ข้อที่ควรถือประพฤติ

(ข) บาลีเป็น “วต” (วะ-ตะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) วตฺ (ธาตุ = เป็นไป) + (อะ) ปัจจัย

: วตฺ + = วต แปลตามศัพท์ว่า “การที่เป็นไปตามปกติ

(2) วชฺ (ธาตุ = ปรุงแต่ง, กระทำ) + (อะ) ปัจจัย, แปลง เป็น

: วชฺ > วต + = วต แปลตามศัพท์ว่า “การอันเขาปรุงแต่ง

วตฺต” หรือ “วต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วัตร” หมายถึงกิจที่ควรถือประพฤติ, กิจพึงกระทำ, ข้อปฏิบัติ, ความประพฤติ, ธรรมเนียม, ประเพณี, สิ่งที่ทำ, หน้าที่, การบริการ, ประเพณี, งาน (observance, vow, virtue, that which is done, which goes on or is customary, duty, service, custom, function)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วัตร, วัตร– : (คำนาม) กิจพึงกระทำ เช่น ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น, หน้าที่ เช่น ข้อวัตรปฏิบัติ, ธรรมเนียม เช่น ศีลาจารวัตร; ความประพฤติ เช่น พระราชจริยวัตร, การปฏิบัติ เช่น ธุดงควัตร อุปัชฌายวัตร, การจำศีล. (ป. วตฺต; ส. วฺฤตฺต).”

ธุดงค + วัตร = ธุดงควัตร อ่านว่า ทุ-ดง-คะ-วัด

โปรดสังเกต ในภาษาไทย คำว่า “ธุดงค์” เมื่อใช้คำเดียวหรืออยู่ท้ายคำอื่น มีการันต์ที่ ค์ อ่านว่า ทุ-ดง แต่เมื่ออยู่หน้าและมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย ตัดการันต์ที่ ค์ ออก อ่านว่า ทุ-ดง-คะ- ต่อท้ายด้วยคำหลัง 

เช่นในที่นี้ “ธุดงค์” มีคำว่า “วัตร” มาสมาสข้างท้าย ตัดการันต์ที่ ค์ ออก เขียนเป็น “ธุดงควัตร” อ่านว่า ทุ-ดง-คะ-วัด (ไม่ใช่ ทุ-ดง-วัด)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ธุดงควัตร : (คำนาม) กิจอันภิกษุผู้ถือธุดงค์ควรทำ.”

ขยายความ :

ธุดงควัตร” มีความหมายว่าอย่างไร ขอประมวลความจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ข้อ [342] ธุดงค์ 13 ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มาเสนอเป็นความรู้ดังต่อไปนี้ –

…………..

ธุดงค์ หมายถึง องค์คุณเครื่องสลัดหรือกำจัดกิเลส, ข้อปฏิบัติประเภทวัตรที่ผู้สมัครใจจะพึงสมาทานประพฤติได้ เพื่อเป็นอุบายขัดเกลากิเลส ช่วยส่งเสริมความมักน้อยและสันโดษเป็นต้น (Dhutaŋga: means of shaking off or removing defilements; austere practices; ascetic practices) มี 13 ข้อ คือ: 

1. ปังสุกูลิกังคะ (องค์แห่งผู้ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร – refuse-rag-wearer’s practice)

2. เตจีวริกังคะ (องค์แห่งผู้ถือทรงเพียงไตรจีวรเป็นวัตร – triple-robe-wearer’s practice)

3. ปิณฑปาติกังคะ (องค์แห่งผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร – alms-food-eater’s practice)

4. สปทานจาริกังคะ (องค์แห่งผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับเป็นวัตร – house-to-house-seeker’s practice)

5. เอกาสนิกังคะ (องค์แห่งผู้ถือนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร คือฉันวันละมื้อเดียว ลุกจากที่แล้วไม่ฉันอีก – one-sessioner’s practice)

6. ปัตตปิณฑิกังคะ (องค์แห่งผู้ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร คือ ไม่ใช้ภาชนะใส่อาหารเกิน 1 อย่างคือบาตร – bowl-food-eater’s practice)

7. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ (องค์แห่งผู้ถือห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร คือเมื่อได้ปลงใจกำหนดอาหารที่เป็นส่วนของตน ซึ่งเรียกว่าห้ามภัต ด้วยการลงมือฉันเป็นต้นแล้ว ไม่รับอาหารที่เขานำมาถวายอีก แม้จะเป็นของประณีต – later-food-refuser’s practice)

8. อารัญญิกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร อยู่ห่างบ้านคนอย่างน้อย 500 ชั่วธนู คือ 25 เส้น – forest-dweller’s practice)

9. รุกขมูลิกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร – tree-rootdweller’s practice)

10. อัพโภกาสิกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่ที่แจ้งเป็นวัตร – open-air-dweller’s practice)

11. โสสานิกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร – charnel-ground-dweller’s practice)

12. ยถาสันถติกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่ในเสนาสนะแล้วแต่เขาจัดให้ – any-bed-user’s practice)

13. เนสัชชิกังคะ (องค์แห่งผู้ถือการนั่งเป็นวัตร คือเว้นนอน อยู่ด้วยเพียง 3 อิริยาบถ – sitter’s practice)

…………..

โปรดสังเกตว่า ธุดงค์ทั้ง 13 ข้อ ไม่มีข้อไหนบอกว่า การแบกกลด สะพายย่าม สะพายบาตร เดินไปตามที่ต่าง ๆ เป็น “ธุดงค์” หรือ “ธุดงควัตร

แต่บรรดาสื่อต่าง ๆ ในสังคมไทย พอพูดเรื่องธุดงค์ ก็จะต้องเอาภาพพระภิกษุแบกกลด สะพายย่าม สะพายบาตร เดินไปตามที่ต่าง ๆ มาประกอบทุกครั้งไป เป็นการซ้ำย้ำให้เข้าใจผิดหนักเข้าไป และคนทั้งหลายพอเห็นภาพหรือเห็นพระแบกกลดก็จะบอกกันทันทีว่า พระธุดงค์

นับว่าเป็นเรื่องประหลาดอย่างยิ่ง-ที่หลักคำสอนเรื่องธุดงค์ก็ไม่ใช่เรื่องปกปิดลึกลับ หากแต่สามารถศึกษาได้ทั่วไป แต่กลับไม่มีใครช่วยกันบอกให้เข้าใจให้ถูกต้อง มีแต่ช่วยกันซ้ำให้เข้าใจผิดอยู่นั่นแล้ว

เราจะเรียกอาการเช่นนี้ว่าอะไรดี?

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้ายอมให้ผิดกลายเป็นถูกได้เรื่องหนึ่ง

: ต่อไปผิดก็จะกลายเป็นถูกได้ทุกเรื่อง

#บาลีวันละคำ (4,562)

8-12-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *