จตุรพิธพร (บาลีวันละคำ 137)
จตุรพิธพร
(คำไทย)
อ่านว่า จะ-ตุ-ระ-พิด-ทะ-พอน
คำนี้ถ้าเป็นภาษาบาลี ก็คือ จตุ + วิธ + วร = จตุพฺพิธพฺพร (จะ-ตุบ-พิ-ทับ-พะ-ระ)
“จตุ” = 4 (จำนวนสี่) ใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “จตุร”
“วิธ” = อย่าง, ชนิด แปลง ว เป็น พ = พิธ
“วร” แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันบุคคลปรารถนา” แปลทับศัพท์ว่า “พร” (แปลง ว เป็น พ) ถ้าเป็นคุณศัพท์แปลว่า ประเสริฐ, ยอดเยี่ยม
“จตุพฺพิธพฺพร” เขียนแบบไทยว่า “จตุรพิธพร” แปลว่า “พรสี่อย่าง” ได้แก่ –
1 อายุ = ความมีอายุยืน
2 วรรณะ = ความมีผิวพรรณผ่องใส
3 สุขะ = ความสุขกายสุขใจ
4 พละ = ความมีกำลังแข็งแรง สุขภาพดี
“พร” ในความหมายเดิมคือ สิ่งที่อนุญาตหรือให้ตามที่ขอ, สิ่งประสงค์ที่ขอให้ผู้อื่นอนุญาตหรืออำนวยให้, สิ่งที่ปรารถนาซึ่งเมื่อได้รับโอกาสแล้วจะขอจากผู้มีศักดิ์หรือมีฐานะ ที่จะยอมให้ หรือเอื้ออำนวยให้เป็นข้ออนุญาตพิเศษ เป็นรางวัล หรือเป็นผลแห่งความโปรดปรานหรือเมตตาการุณย์
ในภาษาไทย “พร” มีความหมายเพี้ยนไป กลายเป็นคำแสดงความปรารถนาดี ซึ่งกล่าวหรือให้โดยไม่ต้องมีการขอหรือการแสดงความประสงค์ของผู้รับ และมักไม่คำนึงว่าจะมีการปฏิบัติหรือทำให้สำเร็จเช่นนั้นหรือไม่
อย่าลืม : ทำเหตุให้ดีพอ ไม่ต้องขอก็ได้พร
บาลีวันละคำ (137)
22-9-55
ห้องพระ
17-10-55
วร = พร ประเสริฐ สูงสุด
วริตพฺโพ อิจฺฉิตพฺโพติ วโร ภาวะอันบุคคลปรารถนา
วร ธาตุ ในความหมายว่าปรารถนา อ ปัจจัย (ศัพท์วิเคราะห์)
วิธ อัพ.
อย่าง, ชนิด.
วิวิธ ค.
มีอย่างต่าง ๆ. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)
วิธ, วิธา
น. อย่าง, ชนิด. (ป.).
วร ค.
ประเสริฐ, ยอดเยี่ยม
วร ป.
พร. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)
พร
[พอน] น. คําแสดงความปรารถนาให้ประสบสิ่งที่เป็นสิริมงคล เช่น ให้พร ถวายพระพร, สิ่งที่ขอเลือกเอาตามประสงค์ เช่น ขอพร. (ป. วร).
จตุรพิธพร
พร ๔ ประการ คือ อายุ (ความมีอายุยืน) วรรณะ (ความมีผิวพรรณผ่องใส) สุขะ (ความสุขกายสุขใจ) พละ (ความมีกำลังแข็งแรง สุขภาพดี); ดู พร (ประมวลศัพท์)
พร
สิ่งที่อนุญาตหรือให้ตามที่ขอ, สิ่งประสงค์ ที่ขอให้ผู้อื่นอนุญาตหรืออำนวยให้, สิ่งที่ปรารถนา ซึ่งเมื่อได้รับโอกาสแล้ว จะขอจากผู้มีศักดิ์หรือมีฐานะ ที่จะยอมให้ หรือเอื้ออำนวยให้เป็นข้ออนุญาตพิเศษ เป็นรางวัล หรือเป็นผลแห่งความโปรดปรานหรือเมตตาการุณย์, ดังพรสำคัญต่อไปนี้ เป็นตัวอย่าง พร ที่พระเจ้าสุทโธทนะทรงขอจากพระพุทธเจ้า, พร ๘ ประการ ที่นางวิสาขาทูลขอ, พร ๘ ประการ ที่พระอานนท์ทูลขอ (ทำนองเป็นเงื่อนไข) ในการที่จะรับหน้าที่เป็นพระพุทธอุปฐากประจำ ฯลฯ
ในภาษาไทย “พร” มีความหมายเพี้ยนไป กลายเป็นคำแสดงความปรารถนาดี ซึ่งกล่าวหรือให้โดยไม่ต้องมีการขอหรือการแสดงความประสงค์ของผู้รับ และมักไม่คำนึงว่าจะมีการปฏิบัติหรือทำให้สำเร็จเช่นนั้นหรือไม่
“พร” ที่นิยมกล่าวในภาษาไทย เช่นว่า “จตุรพิธพร” (พรสี่ประการ) นั้น ในภาษาบาลีเดิมไม่เรียกว่า “พร” แต่เรียกว่า “ธรรม” บ้าง ว่า “ฐานะ” บ้าง ดังในพุทธพจน์ว่า “ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีปกติอภิวาท อ่อนน้อมต่อวุฒชนเป็นนิตย์” (ขุ.ธ.๒๕/๑๘/๒๙)
ธรรม หรือฐานะที่เรียกอย่างไทยได้ว่าเป็นพรอย่างนี้ ในพระไตรปิฎกมีอีกหลายชุด มีจำนวน ๕ บ้าง ๖ บ้าง ๗ บ้าง ที่ควรทราบ คือ ฐานะ ๕ อันเรียกได้ว่าเป็น “เบญจพิธพร” (พรห้าประการ) ดังในพุทธพจน์ว่า “ทายกผู้ให้โภชนะ ชื่อว่าย่อมให้ฐานะ ๕ ประการ แก่ปฏิคาหก กล่าวคือ ให้อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ครั้นให้ … แล้ว ย่อมเป็นภาคีแห่งอายุ … วรรณะ … สุขะ … พละ … ปฏิภาณ ที่เป็นทิพย์ หรือเป็นของมนุษย์ ก็ตาม” (องฺ.ปญฺจก.๒๒/๓๗/๔๔)
ธรรม หรือฐานะ ๕ อันเรียกได้ว่าเป็น “เบญจพิธพร” (พรห้าประการ) อีกชุดหนึ่งที่ควรนำมาปฏิบัติ พึงศึกษาในพุทธพจน์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปในแดนโคจรของตน อันสืบมาแต่บิดา… เมื่อเที่ยวไปในแดนโคจรของตน อันสืบมาแต่บิดา เธอทั้งหลายจักเจริญ ทั้งด้วยอายุ …ทั้งด้วยวรรณะ …ทั้งด้วยสุข …ทั้งด้วยโภคะ …ทั้งด้วยพละ” และทรงไขความไว้ว่า สำหรับภิกษุ อายุ อยู่ที่อิทธิบาท ๔ วรรณะ อยู่ที่ศีล สุข อยู่ที่ฌาน ๔ โภคะ อยู่ที่อัปปมัญญา (พรหมวิหาร) ๔ พละ อยู่ที่วิมุตติ (เจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติที่หมดสิ้นอาสวะ) (ที.ปา.๑๑/๕๐/๘๕) ส่วนแดนโคจรของตน ที่สืบมาแต่บิดา ก็คือสติปัฏฐาน ๔ (สํ.ม.๑๙/๗๐๐/๑๙๘) (ประมวลศัพท์)
อายุ
สภาวธรรมที่ทำให้ชีวิตดำรงอยู่หรือเป็นไป, พลังที่หล่อเลี้ยงดำรงรักษาชีวิต, พลังชีวิต, ความสามารถของชีวิตที่จะดำรงอยู่และดำเนินต่อไป, ตามปกติท่านอธิบายว่า อายุ ก็คือ ชีวิตินทรีย์ นั่นเอง; ช่วงเวลาที่ชีวิตของมนุษย์สัตว์ประเภทนั้นๆ หรือของบุคคลนั้นๆ จะดำรงอยู่ได้, ช่วงเวลาที่ชีวิตจะเป็นอยู่ได้ หรือได้เป็นอยู่; ในภาษาไทย อายุ มีความหมายเพี้ยนไปในทางที่ไม่น่าพอใจ เช่นกลายเป็นความผ่านล่วงไปหรือความลดถอยของชีวิต (ประมวลศัพท์)
วรรณะ
ผิว, สี, เพศ, ชนิด, พวก, เหล่า, หนังสือ, คุณความดี, ความยกย่องสรรเสริญ; ชนชั้นที่จัดแบ่งออกไปตามหลักศาสนาพราหมณ์เรียกว่า วรรณะ ๔ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร (ประมวลศัพท์)
สุข
ความสบาย, ความสำราญ, ความฉ่ำชื่นรื่นกายรื่นใจ มี ๒ คือ ๑. กายิกสุข สุขทางกาย ๒. เจตสิกสุข สุขทางใจ, อีกหมวดหนึ่ง มี ๒ คือ ๑. สามิสสุข สุขอิงอามิส คืออาศัยกามคุณ ๒. นิรามิสสุข สุขไม่อิงอามิส คือ อิงเนกขัมมะ หรือสุขที่เป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อวัตถุ (ท่านแบ่งเป็นคู่ๆ อย่างนี้อีกหลายหมวด) (ประมวลศัพท์)
พละ
กำลัง
1. พละ ๕ คือธรรมอันเป็นกำลัง ซึ่งทำให้เกิดความเข้มแข็งมั่นคง ดำรงอยู่ได้ในสัมปยุตตธรรมทั้งหลายอย่างไม่หวั่นไหว อันธรรมที่เป็นปฏิปักษ์จะเข้าครอบงำไม่ได้ เป็นเครื่องเกื้อหนุนแก่อริยมรรค จัดอยู่ในจำพวกโพธิปักขิยธรรม มี ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา; ดู อินทรีย์ ๕, โพธิปักขิยธรรม
2. พละ ๔ คือธรรมอันเป็นพลังทำให้ดำเนินชีวิตด้วยความมั่นใจ ไม่ต้องหวาดหวั่นกลัวภัยต่างๆ ได้แก่
๑. ปัญญาพละ กำลังปัญญา
๒. วิริยพละ กำลังความเพียร
๓. อนวัชชพละ กำลังคือการกระทำที่ไม่มีโทษ (กำลังความสุจริตและการทำแต่กรรมที่ดีงาม)
๔. สังคหพละ กำลังการสงเคราะห์ คือช่วยเหลือเกื้อกูลอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยดี ทำตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคม
3. พละ ๕ หรือ ขัตติยพละ ๕ ได้แก่กำลังของพระมหากษัตริย์ หรือกำลังที่ทำให้มีความพร้อมสำหรับความเป็นกษัตริย์ ๕ ประการ ดังแสดงในคัมภีร์ชาดก คือ
๑. พาหาพละ หรือ กายพละ กำลังแขนหรือกำลังกาย คือแข็งแรงสุขภาพดี สามารถในการใช้แขนใช้มือใช้อาวุธ มีอุปกรณ์พรั่งพร้อม
๒. โภคพละ กำลังโภคสมบัติ
๓. อมัจจพละ กำลังข้าราชการที่ปรึกษาและผู้บริหารที่สามารถ
๔. อภิชัจจพละ กำลังความมีชาติสูง ต้องด้วยความนิยมเชิดชูของมหาชน และได้รับการศึกษาอบรมมาดี
๕. ปัญญาพละ กำลังปัญญา ซึ่งเป็นข้อสำคัญที่สุด (ประมวลศัพท์)
พล นป.
เสนา, กองทับ; กำลัง, อำนาจ; ความหนา.
พล ป.
พล, หมู่, พวก. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)
จตุรพิธพร
[-พิดทะพอน] น. พร ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ, ใช้ในการให้พร ขอให้มีอายุยืน มีผิวพรรณผ่องใส มีความสุขกายสุขใจ และมีกําลังแข็งแรง.
อายุ
น. เวลาที่ดํารงชีวิตอยู่, เวลาชั่วชีวิต, ช่วงเวลานับตั้งแต่เกิดหรือมีมาจนถึงเวลาที่กล่าวถึง, ระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น อายุใบอนุญาต ยานี้หมดอายุแล้ว, ระยะเวลาที่กําหนดรู้ความยั่งยืนของสิ่งนั้น ๆ เช่น อายุของหิน. (ป.; ส. อายุสฺ หรือ อายุษฺ เมื่อนําหน้าบางคํา, แต่เมื่อนําหน้าอักษรตํ่ากับตัว ห เปลี่ยน สฺ เป็น รฺ เช่น อายุรเวท, แต่ถ้าใช้อย่างบาลีก็ไม่ต้องมี ส หรือ ร).
วรรณ-, วรรณะ
[วันนะ-] น. สี เช่น เบญจวรรณ แปลว่า ๕ สี, มักใช้เข้าคู่กับคำ สีสัน เป็น สีสันวรรณะ; ผิว เช่น ขอให้เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ, มักใช้เข้าคู่กับคำ ผิวพรรณ เป็น ผิวพรรณวรรณะ; ชั้นชน, ในสังคมฮินดูแบ่งคนออกเป็น ๔ วรรณะ คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร; หนังสือ เช่น วรรณกรรม วรรณคดี. (ส. วรฺณ; ป. วณฺณ).
สุข, สุข-
[สุก, สุกขะ-] น. ความสบายกายสบายใจ เช่น ขอให้อยู่ดีมีสุข เกิดมาก็มีสุขบ้างทุกข์บ้าง, มักใช้เข้าคู่กับคำ เป็น เช่น ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข ขอให้เป็นสุข ๆ นะ.ว. สบายกายสบายใจ เช่น เดี๋ยวนี้เขาอยู่สุขสบายดี. (ป., ส.).
พล, พล-
[พน, พนละ-, พะละ-] น. กําลัง, มักใช้ประกอบคําอื่น เช่น พระทศพล อันเป็นพระนามพระพุทธเจ้า หมายความว่า ทรงมีพระญาณอันเป็นกำลัง ๑๐ ประการ มี ฐานาฐานญาณ คือ ปรีชาหยั่งรู้ฐานะและสิ่งที่มิใช่ฐานะเป็นต้น; ทหาร เช่น กองพล ตรวจพล ยกพลขึ้นบก; สามัญ, ธรรมดา ๆ, พื้น ๆ, เช่น ของพล ๆ; ยศทหารและตํารวจสัญญาบัตร รองจากจอมพล (เดิมใช้ว่า นายพล). (ป., ส.).