บาลีวันละคำ

สทฺธา (บาลีวันละคำ 138)

สทฺธา

อ่านว่า สัด-ทา

ภาษาไทยนิยมใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ศรัทธา” อ่านเหมือนกัน

สทฺธา” ประกอบด้วยคำว่า สํ (พร้อม, ดี, ด้วยดี) + ธา (ธาตุ = เชื่อถือ, นับถือ, มอบไว้, ฝากไว้) แปลงนิคหิต (ที่ สํ) เป็น ทฺ

: สํ > สทฺ + ธา = สทฺธา แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่เชื่อถือ” “สิ่งที่เป็นเหตุให้เชื่อถือ” “สิ่งที่เป็นเหตุให้มอบจิตไว้ด้วยดี

ในทางธรรม ศรัทธาหมายถึงเชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ, ความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล, ความเชื่อมั่นในสิ่งที่ดีงาม, ความเลื่อมใสซาบซึ้ง ชื่นใจ สนิทใจ เชื่อมั่น มีใจโน้มน้อมมุ่งแล่นไปตามไปรับคุณความดีในบุคคลหรือสิ่งนั้นๆ, ความมั่นใจในความจริง ความดี สิ่งดีงาม และในการทำความดี ไม่ลู่ไหลตื่นตูมไปตามลักษณะอาการภายนอก

สทฺธาศรัทธาความเชื่อ” มีระดับที่แตกต่างกันดังนี้ –

1 อาคมสัทธา เชื่อแบบมุ่งมั่นที่จะทำ ที่จะเป็น เพราะตั้งเป้าหมายไว้เด็ดเดี่ยวแล้ว = แบบพระโพธิสัตว์

2 อธิคมสัทธา เชื่อเพราะได้สัมผัส เข้าถึง หรือบรรลุประจักษ์แก่ใจ = แบบพระอริยบุคคล

3 อธิโมกขสัทธา เชื่อแบบมั่นใจเพราะกำลังจะเห็นความจริง = แบบนักปฏิบัติ

4 ปสาทสัทธา เชื่อเพียงเลื่อมใสชื่นชมจากการได้ยินได้ฟังได้เห็นจากภายนอก = แบบคนทั่วไป

กฎ : ศรัทธากับปัญญาต้องสมดุลกัน

พิสูจน์ : ยิ่งรู้ความจริงก็ยิ่งศรัทธา หรือ ยิ่งความจริงปรากฏก็ยิ่งหมดศรัทธา

บาลีวันละคำ (138)

23-9-55

สทฺธา = ความเชื่อ ความเชื่อมั่น

– สทฺทหตีติ สทฺธา กิริยาที่เชื่อถือ

สํ บทหน้า ธา ธาตุ ในความหมายว่าเชื่อถือ, นับถือ อ ปัจจัย แปลงนิคหิตเป็น นฺ แปลง นฺ เป็น ทฺ

– สทฺทหติ เอตายาติ สทฺธา ธรรมชาติเป็นเหตุให้เชื่อถือ

– สมฺมา จิตฺตํ นิเธติ เอตายาติ สทฺธา ธรรมชาติเป็นเหตุให้มอบจิตไว้ด้วยดี

สํ แทนศัพท์ว่า สมฺมา + นิ บทหน้า ธา ธาตุ ในความหมายว่ามอบไว้, ฝากไว้ อ ปัจจัย

(ศัพท์วิเคราะห์)

สัทธา

ความเชื่อ, ความเชื่อถือ; ในทางธรรม หมายถึง เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ, ความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล, ความเชื่อมั่นในสิ่งที่ดีงาม, ความเลื่อมใสซาบซึ้งชื่นใจสนิทใจเชื่อมั่นมีใจโน้มน้อมมุ่งแล่นไปตามไปรับคุณความดีในบุคคลหรือสิ่งนั้นๆ, ความมั่นใจในความจริง ความดี สิ่งดีงาม และในการทำความดี ไม่ลู่ไหลตื่นตูมไปตามลักษณะอาการภายนอก (ข้อ ๑ ในพละ ๕, ข้อ ๑ ในเวสารัชชกรณธรรม ๕, ข้อ ๑ ในสัทธรรม ๗, ข้อ ๑ ในอริยทรัพย์ ๗, ข้อ ๑ ในอริยวัฑฒิ ๕); เขียนอย่างสันสกฤตเป็น ศรัทธา      ศรัทธาที่เป็นหลักแกนกลาง ซึ่งพบทั่วไปในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้เป็นข้อเดียว (เช่น องฺ.ปญฺจก.๒๒/ ๕๓/๗๔) คือ ตถาคตโพธิสัทธา ความเชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคต (คำบาลีว่า “สทฺทหติ ตถาคตสฺส โพธึ”; บางครั้ง เมื่อทรงแสดงคุณสมบัติของอริยสาวก จึงตรัสถึงอเวจจปสาทะ คือความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว ในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม และในพระสงฆ์ เช่น องฺ.นวก.๒๓/๒๓๑/๔๒๐)

        ศรัทธาที่มักกล่าวถึงในอรรถกถา ได้แก่ (อุ.อ.๒๓๕; อิติ.อ.๗๔; จริยา.อ.๓๓๖) สัทธา ๒ คือ

๑. ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคต

๒. กัมมผลสัทธา เชื่อกรรมและผลของกรรม,

        แต่หลายแห่ง (เช่น อุ.อ.๑๑๐; อิติ.อ.๓๕๓; เถร.อ.๑/๔๙๐) แสดงสัทธา ๒ คือ

๑. กัมมผลสัทธา เชื่อกรรมและผลของกรรม

๒. รตนัตตยสัทธา เชื่อพระรัตนตรัย (กัมมผลสัทธา เป็นโลกิยสัทธา, รตนัตตยสัทธา ถ้าถูกต้องจริงแท้เห็นประจักษ์ด้วยปัญญามั่นคงไม่หวั่นไหว เป็นโลกุตตรสัทธา);

        อย่างไรก็ตาม ที่รู้จักกันมาก คือ สัทธา ๔ ซึ่งเป็นชุดสืบๆ กันมา ที่จัดรวมขึ้นภายหลัง คือ

๑. กัมมสัทธา เชื่อกรรม เชื่อการกระทำ

๒. วิปากสัทธา เชื่อผลของกรรม

๓. กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตัว ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

๔. ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคต

        อรรถกถาทั้งหลายจำแนกว่ามี สัทธา ๔ ระดับ (เช่น ที.อ.๓/๒๒๗; ม.อ.๓/๒๓๗; องฺ.อ. ๓/๒๙) คือ

๑. อาคมนสัทธา ความเชื่อความมั่นใจของพระโพธิสัตว์ อันสืบมาจากการบำเพ็ญสั่งสมบารมี (อาคมนียสัทธา หรืออาคมสัทธา ก็เรียก)

๒. อธิคมสัทธา ความเชื่อมั่นของพระอริยบุคคล ซึ่งเกิดจากการเข้าถึงด้วยการบรรลุธรรมเป็นประจักษ์ (อธิคมนสัทธา ก็เรียก)

๓. โอกัปปนสัทธา ความเชื่อหนักแน่นสนิทแน่วเมื่อได้ปฏิบัติก้าวหน้าไปในการเห็นความจริง (โอกัปปนียสัทธา ก็เรียก, ท่านว่าตรงกับอธิโมกข์ หรืออธิโมกขสัทธา)

๔. ปสาทสัทธา ความเชื่อที่เป็นเพียงความเลื่อมใสจากการได้ยินได้ฟัง

สัทธา

  น. ความเชื่อ, ความเลื่อมใส. (ป.; ส. ศฺรทฺธา).

สัทธาจริต

  ว. มีความเชื่อเป็นเจ้าเรือน, มีนิสัยเชื่อง่าย, เช่น เขาเป็นคนสัทธาจริตเชื่ออะไรง่าย. (ป.).

สัทธาธิกะ

  น. ผู้ยิ่งด้วยศรัทธา. (ป.).

ศรัทธา

  [สัดทา] น. ความเชื่อ, ความเลื่อมใส, เช่น สิ้นศรัทธา ฉันมีศรัทธาในความดีของเขา บางทีก็ใช้เข้าคู่กับคำ ประสาทะ เป็น ศรัทธาประสาทะ.ก. เชื่อ, เลื่อมใส, เช่น เขาศรัทธาในการรักษาแบบแพทย์แผนโบราณ. (ส. ศฺรทฺธา; ป. สทฺธา).

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย