พฺยคฺโฆโภชนํภุญฺชติ (บาลีวันละคำ 141)
พฺยคฺโฆโภชนํภุญฺชติ
ภาษาบาลีต้องเขียนแยกเป็นคำๆ เหมือนภาษาอังกฤษ
ในคัมภีร์ใบลาน (แหล่งที่หาดูได้สะดวกคือหอสมุดแห่งชาติ) ท่านเขียนติดกันเป็นพืดเนื่องจากต้องประหยัดเนื้อที่ (ใช้พื้นที่น้อยที่สุด แต่เขียนข้อความให้ได้มากที่สุด)
เมื่อปริวรรตคัดลอกพระไตรปิฎกออกมาเป็นอักษรไทย การแยกศัพท์ออกเป็นคำๆ (ตัด-ต่อ) จึงเป็นภาระที่ค่อนข้างหนัก เพราะถ้าแยกพยัญชนะ (อักษร) ผิด อรรถะ (ความหมาย) ก็จะพลอยพลาดไปด้วย
เหมือนภาษาไทยที่ว่า “ยานี้กินแล้วแข็งแรงไม่มีโรคภัยเบียดเบียน”
เหมือนภาษาอังกฤษที่ว่า LONGLIVETHEKING
ภาษาบาลีข้างต้น ถ้าแยกศัพท์เป็น –
พฺยคฺโฆ โภชนํ ภุญฺชติ (พยัคโค / โพชะนัง / พุนชะติ)
แปลว่า “เสือกินข้าว”
แต่ถ้าแยกเป็น –
พฺยคฺโฆ โภ ชนํ ภุญฺชติ (พยัคโค / โพ / ชะนัง / พุนชะติ)
แปลว่า “เจ้าข้าเอ้ย ! เสือกินคน”
วันนี้ผู้เขียนบาลีวันละคำผ่านไปหน้าโรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์ จังหวัดราชบุรี เห็นป้ายถวายพระพรขนาดใหญ่มาก มีภาษาบาลีว่า
ทีฆายุกาโหตุ มหาราชินี
ข้อความนี้ต้องแยกวรรคเป็น –
ทีฆายุกา โหตุ มหาราชินี
: ผู้รู้บาลีมีทั่วไทย
: ควรปรึกษาหารือให้แน่ใจก่อนยกป้าย
บาลีวันละคำ (141)
26-9-55