บาลีวันละคำ

สังฆกิจ (บาลีวันละคำ 3,250)

สังฆกิจ

กิจของสงฆ์

อ่านว่า สัง-คะ-กิด

ประกอบด้วยคำว่า สังฆ + กิจ

(๑) “สังฆ

เขียนแบบบาลีเป็น “สงฺฆ” (สัง-คะ) (บาลีบางรุ่นสะกดเป็น “สํฆ” ก็มี) รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + หนฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ (สํ > สงฺ), แปลง หนฺ เป็น

: สํ + หนฺ = สํหนฺ > สํฆ + = สํฆ > สงฺฆ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “หมู่เป็นที่ไปรวมกันแห่งส่วนย่อยโดยไม่แปลกกัน” หมายความว่า ส่วนย่อยที่มีคุณสมบัติหลักๆ “ไม่แปลกกัน” คือมีคุณสมบัติตรงกัน เหมือนกัน ส่วนย่อยดังกล่าวนี้ไปอยู่รวมกัน คือเกาะกลุ่มกัน ดังนี้เรียกว่า “สงฺฆ

(2) “หมู่ที่รวมกันโดยมีความเห็นและศีลเสมอกัน” ความหมายนี้เล็งที่บรรพชิตหรือสาวกที่เป็นนักบวชในลัทธิศาสนาต่างๆ เช่นภิกษุในพระพุทธศาสนาเป็นต้น ต้องมีความคิดเห็นและความประพฤติลงรอยกันจึงจะรวมเป็น “สงฺฆ” อยู่ได้

สงฺฆ” จึงหมายถึง หมู่, กอง, กลุ่ม, คณะ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺฆ” เป็นอังกฤษว่า –

(1) multitude, assemblage (ฝูงชน, ชุมนุมชน, หมู่, ฝูง)

(2) the Order, the priesthood, the clergy, the Buddhist church (คณะสงฆ์, พระ, นักบวช, พุทธจักร)

(3) a larger assemblage, a community (กลุ่มใหญ่, ประชาคม)

สงฺฆ” ปกติในภาษาไทยใช้ว่า “สงฆ์” ถ้าอยู่หน้าคำสมาสมักใช้เป็น “สังฆ-”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สังฆ– : (คำนาม) สงฆ์, มักใช้เป็นส่วนหน้าสมาส.”

ขยายความ :

สงฆ์” ในพระพุทธศาสนามีความหมาย 2 อย่าง คือ –

(1) “สาวกสงฆ์” หมายถึงหมู่สาวกของพระพุทธเจ้า ที่ได้บรรลุธรรมในภูมิอริยบุคคลคือเป็นพระโสดาบันขึ้นไป ดังคำสวดในสังฆคุณที่ว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

(2) “ภิกขุสงฆ์” หมายถึงชุมนุมภิกษุหมู่หนึ่งตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ซึ่งสามารถประกอบสังฆกรรมได้ตามกำหนดทางพระวินัย

บางทีเรียกอย่างแรกว่า “อริยสงฆ์” อย่างหลังว่า “สมมติสงฆ์

ในภาษาไทย คำว่า “สงฆ์” อาจหมายถึงภิกษุที่รวมกันเป็นหมู่คณะก็ได้ หมายถึงภิกษุแต่ละรูปก็ได้

ในที่นี้ “สงฆ์” หมายถึง “ภิกขุสงฆ์” คือชุมนุมภิกษุหมู่หนึ่งตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ซึ่งสามารถประกอบสังฆกรรมได้ตามกำหนดทางพระวินัย

(๒) “กิจ

บาลีเป็น “กิจฺจ” (กิด-จะ) รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + ริจฺจ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่ (ก)-รฺ (กรฺ > ) และ ที่ ริ-(จฺจ) (ริจฺจ > อิจฺจ)

: กรฺ > + ริจฺจ > อิจฺจ : + อิจฺจ = กิจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่พึงทำ” หมายถึง หน้าที่, การงาน, การบริการ; พิธี, การกระทำ (duty, obligation, service, attention; ceremony, performance)

กิจฺจ” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง เขียนเป็น “กิจ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กิจ, กิจ– : (คำนาม) ธุระ, งาน. (ป. กิจฺจ).”

สงฺฆ + กิจฺจ = สงฺฆกิจฺจ (สัง-คะ-กิด-จะ) > สังฆกิจ (สัง-คะ-กิด) แปลว่า “กิจของสงฆ์

คำว่า “สังฆกิจ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ขยายความ :

ในอรรถกถาพระวินัย (สมันตปาสาทิกา ภาค 2 หน้า 116) มีข้อความตอนหนึ่งว่า

…………..

อปโลกนกมฺมํ  ญตฺติกมฺมํ  ญตฺติทุติยกมฺมํ  ญตฺติจตุตฺถกมฺมนฺติ  เอวํ  จตุพฺพิธํ  สงฺฆกิจฺจํ  กิจฺจาธิกรณนฺติ  เวทิตพฺพํ.

สังฆกิจ 4 อย่างนี้ คือ อปโลกนกรรม ญัตติกรรม ญัตติทุติยกรรม และญัตติจตุตถกรรม พึงทราบว่าเป็นกิจจาธิกรณ์

…………..

เป็นอันว่า ความหมายทางพระวินัย “สังฆกิจ” ก็คือ “กิจจาธิกรณ์

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “กิจจาธิกรณ์” ไว้ดังนี้ –

…………..

กิจจาธิกรณ์ : การงานเป็นอธิกรณ์ คือ เรื่องที่เกิดขึ้นอันสงฆ์ต้องจัดต้องทําหรือกิจธุระที่สงฆ์จะพึงทํา; อรรถกถาพระวินัยว่าหมายถึงกิจอันจะพึงทําด้วยประชุมสงฆ์ ได้แก่ สังฆกรรมทั้ง ๔ คือ อปโลกนกรรม ญัตติกรรม ญัตติทุติยกรรม ญัตติจตุตถกรรม

…………..

เป็นอันได้ความต่อไปอีกว่า “กิจจาธิกรณ์” ก็คือ “สังฆกรรม

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “สังฆกรรม” ไว้ดังนี้ –

…………..

สังฆกรรม : งานของสงฆ์, กรรมที่สงฆ์พึงทำ, กิจที่พึงทำโดยที่ประชุมสงฆ์ มี ๔ คือ

๑. อปโลกนกรรม (อะ-ปะ-โล-กะ-นะ-กำ) กรรมที่ทำเพียงด้วยบอกกันในที่ประชุมสงฆ์ ไม่ต้องตั้งญัตติและไม่ต้องสวดอนุสาวนา เช่น แจ้งการลงพรหมทัณฑ์แก่ภิกษุ

๒. ญัตติกรรม (ยัด-ติ-กำ) กรรมที่ทำเพียงตั้งญัตติไม่ต้องสวดอนุสาวนา เช่น อุโบสถและปวารณา

๓. ญัตติทุติยกรรม (ยัด-ติ-ทุ-ติ-ยะ-กำ) กรรมที่ทำด้วยตั้งญัตติแล้วสวดอนุสาวนาหนหนึ่ง เช่น สมมติสีมา ให้ผ้ากฐิน

๔. ญัตติจตุตถกรรม (ยัด-ติ-จะ-ตุด-ถะ-กำ) กรรมที่ทำด้วยการตั้งญัตติแล้วสวดอนุสาวนา ๓ หน เช่น อุปสมบท ให้ปริวาส ให้มานัต

…………..

ที่แสดงมานี้คือ “สังฆกิจ” หรือ “กิจของสงฆ์” โดยความหมายทางพระวินัย

แต่คำว่า “กิจของสงฆ์” ตามความเข้าใจของชาวบ้านทั่วไป มักใช้ในความหมายเชิงปฏิเสธ เช่น “ไม่ใช่กิจของสงฆ์” หรือในเชิงสงสัย เช่น “ทำอย่างนี้ใช่กิจของสงฆ์หรือ?

สังฆกิจ” หรือ “กิจของสงฆ์” ตามความหมายของชาวบ้านนี้ จะเป็นที่เข้าใจชัดเจนขึ้นถ้าชาวบ้านรู้ชัดว่า อะไรบ้างที่มีพุทธบัญญัติ (รวมทั้งข้อกำหนดของทางบ้านเมือง) ห้ามภิกษุทำ

เฉพาะที่เป็นพุทธบัญญัติหลักๆ ก็คือ สิกขาบท 227 ข้อ ที่รู้กันว่าเป็นศีลของภิกษุ ถ้าภิกษุล่วงละเมิด นั่นคือทำสิ่งที่ “ไม่ใช่กิจของสงฆ์

มีข้อกำหนดที่ “ไม่ใช่กิจของสงฆ์” อีกหมวดหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านทั่วไปมักไม่รู้ นั่นคือ “อเนสนา” (อะ-เน-สะ-นา) หมายถึง การหาเลี้ยงชีพในทางที่ไม่สมควรแก่ภิกษุ ท่านแจกแจงไว้ทั้งหมด 21 วิธี ถ้าภิกษุไปประพฤติเข้า นั่นคือทำสิ่งที่ “ไม่ใช่กิจของสงฆ์” เช่นกัน

ดูรายละเอียดได้ที่ลิงก์นี้

………………………………..

อเนสนา” บาลีวันละคำ (1,943)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้ายึดหลักพระธรรมวินัย

จะชอบจะชังใครก็เป็นไปตามหลักการ

: ถ้าเอาตัวบุคคลเข้ามาเกี่ยวเกาะ

ก็ยังจะต้องทะเลาะกันไปอีกนาน

#บาลีวันละคำ (3,250)

6-5-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *