บาลีวันละคำ

นิสีทนสันถัต (บาลีวันละคำ 3,249)

นิสีทนสันถัต

ภาษาวัดที่ควรจะช่วยกันชุบชีวิต

อ่านว่า นิ-สี-ทะ-นะ-สัน-ถัด

ประกอบด้วยคำว่า นิสีทน + สันถัต

(๑) “นิสีทน

บาลีอ่านว่า นิ-สี-ทะ-นะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + สทฺ (ธาตุ = นั่ง, บางนัยว่า สทฺ = จม) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง อะ ที่ -(ทฺ) เป็น อี (สทฺ > สีท, บางนัยว่า แปลง สทฺ เป็น สีทฺ)

: นิ + สทฺ = นิสทฺ + ยุ > อน = นิสทน > นิสีทน แปลตามศัพท์ว่า “การนั่ง” “ที่เป็นที่นั่ง” หมายถึง การนั่งลง, โอกาสที่จะนั่ง, เสื่อสำหรับนั่ง (sitting down, occasion or opportunity to sit, a mat to sit on)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

นิสีทน-, นิสีทนะ : (คำแบบ) (คำนาม) การนั่ง; ผ้ารองนั่งของภิกษุ.” (ป.).

(๒) “สันถัต

เขียนแบบบาลีเป็น “สนฺถต” อ่านว่า สัน-ถะ-ตะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ถรฺ (ธาตุ = ปูลาด, แผ่ไป) + ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น นฺ (สํ > สนฺ), ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ถรฺ > )

: สํ + ถรฺ = สํถรฺ + = สํถรต > สนฺถรต > สนฺถต แปลตามศัพท์ว่า “ปูลาดแล้ว” “แผ่ไปแล้ว

สนฺถต” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้

(1) เป็นคำกริยา: แผ่, ลาด, ปูลาด, ปกคลุม (spread, strewn with, covered)

(2) เป็นคำนาม (นปุงสกลิงค์): พรมหรือเสื่อ (a rug or mat)

บาลี “สนฺถต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สันถัต” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สันถัต : (คำนาม) ผ้าที่พระภิกษุรองนั่ง. (ป. สนฺถต ว่า ปูแล้ว, ลาดแล้ว).”

นิสีทน + สนฺถต = นิสีทนสนฺถต (นิ-สี-ทะ-นะ-สัน-ถะ-ตะ) > นืสีทนสันถัต (นิ-สี-ทะ-นะ-สัน-ถัด) แปลว่า “เครื่องปูลาดเป็นที่นั่ง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “นิสีทนสันถัต” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า –

นิสีทนสันถัต : (คำนาม) ผ้าปูสำหรับนั่ง (มักใช้แก่พระสงฆ์).”

ขยายความ :

ในหนังสือเรื่อง “กามนิต” ของเสฐียรโกเศศ และ นาคะประทีป บทที่สอง – พบ มีข้อความตอนหนึ่งว่าดั่งนี้

…………..

ครั้นแล้ว เสด็จเข้าไปในห้องโถง ทอดพระเนตรเห็นชายหนุ่มคนหนึ่ง มีลักษณะเป็นผู้ดีมีตระกูล นั่งอยู่บนเสื่อข้างมุมห้อง

พระตถาคตตรัสปราศรัยด้วยว่า “ดูก่อนอาคันตุกะ ถ้าท่านไม่รังเกียจ ตถาคตจะขออาศัยแรมราตรีในห้องโถงนี้”

ชายผู้นั้นตอบว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เชิญท่านตามความพอใจเถิด เพราะห้องโถงของกุมภการกว้างขวางพอ”

พระตถาคตเจ้าทรงลาดพระนิสีทนสันถัตลงใกล้ฝา ลดองค์ประทับด้วยสมาธิบัลลังก์ มีพระกายตั้งตรง ดำรงพระสติสัมปชัญญะสงบนิ่งตลอดยามต้นแห่งราตรีนั้น ส่วนชายหนุ่มก็นั่งนิ่งอยู่ตลอดยามต้นเหมือนกัน

…………..

ในคำแถลงเรื่องในหนังสือนั้น พระยาอนุมานราชธน (เสฐียรโกเศศ) เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า –

…………..

… ข้าพเจ้าจำได้ว่า แปลคำว่า Mat ในภาษาอังกฤษว่า “อาสนะ” เพราะเป็นเรื่องพระพุทธเจ้าทรงลาดอาสนะลง พระสารประเสริฐเห็นแล้วก็หัวเราะบอกว่า ที่รองนั่งของพระพุทธเจ้าเขาไม่เรียก “อาสนะ” เขามีคำใช้เฉพาะเรียกว่า “นิสีทนสันถัต” ต่างหาก แล้วกล่าวต่อไปว่า จะติก็ติไม่ลงเพราะเป็นเรื่องของศาสนา ถ้าไม่ได้เรียนก็ไม่รู้ …

…………..

ถ้าชาวเราเอาใจใส่เรียนรู้การใช้ภาษากันให้มากๆ ภาษาไทยของเราก็จะงอกงามและงดงามตลอดไป

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ใช้คำ

: ยากพอๆ กับใช้คน

#บาลีวันละคำ (3,249)

5-5-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *