กฐิน (บาลีวันละคำ 163)

กฐิน
อ่านว่า กะ-ถิ-นะ ภาษาไทยใช้เหมือนกัน อ่านว่า กะ-ถิน
คำว่า “กฐิน” หมายถึงผ้าพิเศษที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่ภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาครบสามเดือนแล้ว ตามศัพท์แปลว่า “ไม้สะดึง” คือไม้แบบสำหรับขึงเพื่อตัดเย็บจีวร
“กฐิน” เป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับพุทธบัญญัติซึ่งจะต้องปฏิบัติตามกฎกติกา “ห้าหนึ่ง” อย่างเคร่งครัด คือ “หนึ่งปี หนึ่งเดือน หนึ่งวัด หนึ่งครั้ง หนึ่งเจ้าภาพ”
– “หนึ่งปี” คือ ปีหนึ่งทอดกฐินกันทีหนึ่ง
– “หนึ่งเดือน” คือ ช่วงเวลาที่จะทอดกฐินได้มีเพียงเดือนเดียว คือตั้งแต่แรมค่ำ 1 เดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12
– “หนึ่งวัด” คือ พระที่จะรับกฐินต้องเป็นพระที่จำพรรษาอยู่ในวัดเดียวกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 (ห้า) รูป น้อยกว่านี้รับกฐินไม่ได้ ไปนิมนต์จากวัดอื่นมาให้ครบ ก็ใช้ไม่ได้
– “หนึ่งครั้ง” คือ วัดหนึ่งทอดกฐินรับกฐินได้ครั้งเดียวในรอบปี
– “หนึ่งเจ้าภาพ” คือ เจ้าภาพกฐินมีได้เพียงรายเดียว เมื่อรายหนึ่งทอดแล้ว รายอื่นๆ ไม่มีสิทธิ์มาทอดอีก (จึงต้องมีการ “จองกฐิน” ล่วงหน้า)
กติกาสำคัญอีกข้อหนึ่งคือ พระสงฆ์จะเที่ยวบอกบุญให้ญาติโยมไปเป็นเจ้าภาพทอดกฐินที่วัดของตนมิได้ ไม่ว่าจะบอกด้วยวาจา จดหมาย หรือแม้แต่ใน FB นี้ก็ตาม ทำเช่นนั้นผิดพุทธบัญญัติ
โปรดศึกษากฎกติกาดังกล่าวนี้ให้ชัดเจนแล้วจึงทำ กรุณาอย่าทำตามๆ กันไป
เคารพพระพุทธเจ้า : เคารพกติกาของพระพุทธเจ้าด้วย
บาลีวันละคำ (163)
18-10-55
คำว่า “กฐิน” ยังใช้เป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า กระด้าง, แข็งทื่อ, เคร่งตึง บางทีหมายถึงแข็งแกร่งด้วย
กฐิน ค. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)
กระด้าง, แข็งทื่อ, เคร่งตึง.
กฐิน นป. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)
กฐิน, (ตามศัพท์แปลว่า ไม้สะดึง คือไม้แบบสำหรับขึงเพื่อตัดเย็บจีวร; ในทางพระวินัยใช้เป็นชื่อเรียกสังฆกรรมอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่สงฆ์ผู้จำพรรษาแล้ว เพื่อแสดงออกซึ่งความสามัคคีของภิกษุที่ได้จำพรรษาอยู่ร่วมกัน)
กฐิน
ตามศัพท์แปลว่า “ไม้สะดึง” คือไม้แบบสำหรับขึงเพื่อตัดเย็บจีวร; ในทางพระวินัย ใช้เป็นชื่อเรียกสังฆกรรมอย่างหนึ่ง (ในประเภทญัตติทุติยกรรม) ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่สงฆ์ผู้จำพรรษาแล้ว เพื่อแสดงออกซึ่งความสามัคคีของภิกษุที่ได้จำพรรษาอยู่ร่วมกัน โดยให้พวกเธอพร้อมใจกันยกมอบผ้าผืนหนึ่งที่เกิดขึ้นแก่สงฆ์ ให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในหมู่พวกเธอ ที่เป็นผู้มีคุณสมบัติสมควร แล้วภิกษุรูปนั้นนำผ้าที่ได้รับมอบไปทำเป็นจีวร (จะทำเป็นอันตรวาสก หรืออุตราสงค์ หรือสังฆาฏิก็ได้ และพวกเธอทั้งหมดจะต้องช่วยภิกษุนั้นทำ) ครั้นทำเสร็จแล้ว ภิกษุรูปนั้นแจ้งให้ที่ประชุมสงฆ์ซึ่งได้มอบผ้าแก่เธอนั้นทราบเพื่ออนุโมทนา เมื่อสงฆ์คือที่ประชุมแห่งภิกษุเหล่านั้นอนุโมทนาแล้ว ก็ทำให้พวกเธอได้สิทธิพิเศษที่จะขยายเขตทำจีวรให้ยาวออกไป (เขตทำจีวรตามปกติ ถึงกลางเดือน ๑๒ ขยายต่อออกไปถึงกลางเดือน ๔); ผ้าที่สงฆ์ยกมอบให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งนั้นเรียกว่า ผ้ากฐิน (กฐินทุสสะ); สงฆ์ผู้ประกอบกฐินกรรมต้องมีจำนวนภิกษุอย่างน้อย ๕ รูป; ระยะเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ประกอบกฐินกรรมได้ มีเพียง ๑ เดือนต่อจากสิ้นสุดการจำพรรษา เรียกว่า เขตกฐิน คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
กฐิน, กฐิน-
[กะถิน, กะถินนะ-] น. ผ้าพิเศษที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่ภิกษุสงฆ์เฉพาะกฐินกาล, ตามศัพท์แปลว่า ไม้สะดึง คือ กรอบไม้สำหรับขึงผ้าที่จะเย็บเป็นจีวร;
คํา กฐิน นี้ ใช้ประกอบกับคําอื่นอันเนื่องด้วยพิธีกฐิน
ผ้าที่ถวายแก่ภิกษุสงฆ์ในพิธีนี้ เรียกว่า ผ้ากฐิน ในฤดูกาลเรียกว่า กฐินกาล [กะถินนะกาน] คือระยะเวลาตั้งแต่แรมคํ่าหนึ่ง เดือน ๑๑ ถึงกลางเดือน ๑๒ ระยะเวลานี้เรียกเป็นสามัญว่า เทศกาลกฐิน [เทดสะกานกะถิน] ฤดูกฐิน หรือ หน้ากฐิน ก็มี
ก่อนจะถึงกฐินกาลผู้ประสงค์จะถวายผ้ากฐินแก่ภิกษุสงฆ์วัดใดจะต้องไปแจ้งความจํานงว่าจะนำผ้ากฐินไปทอดที่วัดนั้นเป็นการล่วงหน้า การแสดงความจํานงล่วงหน้านี้ เรียกว่า จองกฐิน
การทําพิธีถวายผ้ากฐิน เรียกว่า ทอดกฐิน
พระภิกษุผู้ได้รับมอบผ้ากฐินจากสงฆ์โดยวิธีที่กําหนดไว้ในพระวินัย เรียกว่า ผู้กรานกฐิน ผู้ครองกฐิน หรือ องค์ครองกฐิน
เฉพาะผ้ากฐิน บางทีก็เรียกว่า องค์กฐิน
ถ้าพร้อมกับของอื่นอันเป็นบริวารสําหรับถวายภิกษุสงฆ์ เรียกว่า เครื่องกฐิน หรือ บริวารกฐิน [บอริวานกะถิน]
เมื่อนําผ้ากฐินไปทอดโดยมีขบวนแห่ เรียกว่า แห่กฐิน
ถ้ามีพิธีฉลอง เรียกว่า ฉลองกฐิน
การที่ภิกษุสงฆ์ผู้ร่วมอยู่ในพิธีอนุโมทนาต่อองค์ครองกฐินตามพระวินัย หรือการที่บุคคลแสดงความยินดีในการที่เขาทอดกฐิน เรียกว่า อนุโมทนากฐิน [อะนุโมทะนากะถิน]
ภิกษุสงฆ์ผู้ได้อนุโมทนากฐินแล้วนั้น ย่อมได้ชื่อว่าเป็น ผู้กรานกฐิน ด้วย
ผลของการทอดกฐิน เรียกว่า อานิสงส์กฐิน,
ในทางวินัยสิทธิพิเศษ ๕ ประการซึ่งมีแก่ภิกษุผู้ได้กรานกฐินแล้ว ก็เรียกว่า อานิสงส์กฐิน เช่นกัน. (ดู กรานกฐิน และ จุลกฐิน).