อุทิศมังสะ (บาลีวันละคำ 168)
อุทิศมังสะ
บาลีคำนี้เขียนแบบไทย อ่านว่า อุ-ทิด-สะ-มัง-สะ
เขียนแบบบาลีเป็น อุทฺทิสฺสมํส
“อุทิศมังสะ” ประกอบด้วยคำว่า อุทฺทิสฺส (= เจาะจง, มุ่งให้แก่) + มํส (= เนื้อสัตว์) = อุทฺทิสฺสมํส – อุทิศมังสะ แปลตามศัพท์ว่า “เนื้อสัตว์เจาะจง” หมายถึงเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่าโดยมุ่งหมายจะถวายแก่ภิกษุนั้นโดยเฉพาะ ท่านมิให้ภิกษุฉัน หากภิกษุฉันทั้งได้เห็น ได้ยิน หรือสงสัยว่าเขาฆ่าเพื่อถวายตน ต้องอาบัติ
ตัวอย่างเช่น ภิกษุไปเยี่ยมบ้านโยม ถึงเวลาฉันเพล –
1- “ได้เห็น” คือได้เห็นโยมไล่จับไก่หรือกำลังเชือดไก่ พอได้เวลาฉันเพล โยมถวายแกงไก่
2- “ได้ยิน” คือไม่เห็น แต่เด็กในบ้านมากระซิบว่า “หลวงพี่ เดี๋ยวโยมเขาจะเชือดไก่แกงถวาย” พอได้เวลาฉันเพล โยมถวายแกงไก่
3- “สงสัย” คือไม่ได้เห็นกับตา ทั้งไม่มีใครมาบอก แต่สังเกตเห็นว่าไก่ที่เคยเห็นเดินอยู่ในบ้านหายไป พอได้เวลาฉันเพล โยมถวายแกงไก่
ถ้าเข้าลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังกล่าวนี้ เนื้อสัตว์นั้นจัดว่าเป็น “อุทิศมังสะ” พระฉันไม่ได้
ถ้าไม่เข้าข่ายดังกล่าวนี้ พระฉันได้
เพื่อยืนยันให้มั่นใจ โปรดศึกษาได้จาก “ชีวกสูตร” พระไตรปิฎกเล่ม ๑๓ ข้อ ๕๖ –
เมื่อมั่นใจแล้ว ก็ไม่ต้องเถียงกันว่า “พระฉันเนื้อสัตว์ได้หรือไม่ ?”
บาลีวันละคำ (168)
23-10-55
อุทิสสมังสะ (ประมวลศัพท์)
เนื้อสัตว์ที่เขาฆ่าเจาะจงเพื่อถวายภิกษุ ท่านมิให้ภิกษุฉัน, หากภิกษุฉันทั้งได้เห็น ได้ยิน หรือสงสัยว่าเขาฆ่าเพื่อถวายตน ต้องอาบัติทุกกฏ; ตรงข้ามกับ ปวัตตมังสะ