บาลีวันละคำ

อเปหิ (บาลีวันละคำ 169)

อเปหิ

อ่านว่า อะ-เป-หิ

เป็นคำบาลีที่คนไทยใช้กันคุ้นปาก และได้ยินคุ้นหู เช่น

– เขาถูกอเปหิออกจากบ้าน

– นักการเมืองถูกอเปหิจากพรรค

– (หรือแม้แต่ …) สมภารถูกชาวบ้านอเปหิจากวัด

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ เก็บคำนี้ไว้ว่า

อเปหิ, อัปเปหิ [อะ-, อับ-] (ปาก) ก. ขับไล่. (ป. อเปหิ ว่า จงหลีกไป)

“อเปหิ” เป็นคำกริยา ประกอบด้วย อป + เอหิ = อเปหิ

“อป” (อะ-ปะ) คำอุปสรรค แปลว่า “ปราศ, หลีก” นำหน้าคำอื่นทำให้มีความหมายในทำนองดังต่อไปนี้- ไม่มี, หลีกไป, ทำให้พ้นไป, คร่าออกไป, นำออกไป, ผลักหรือดันออกไป, เดินออกไป, หันหรือเลี่ยงไป, ถอยไปข้างๆ, หลีกทาง

“เอหิ” แปลว่า “จงมา” หรือ “จงไป” เมื่อรวมกับ “อป” เป็น “อเปหิ” จึงแปลว่า “จงหลีกไป” = ไปให้พ้นจากตรงนี้

ตามกฎไวยากรณ์บาลี “อเปหิ” เป็นคำกริยาใช้กับผู้ที่พูดด้วย (บุรุษที่ ๒) เอกพจน์ แปลเต็มรูปจึงต้องแปลว่า “คุณ (เจ้า ท่าน สู เอ็ง มึง แก) จงหลีกไป”

กฎไวยากรณ์สะท้อนกฎความจริง :

ถ้าไปเอง ไม่ใช่, ถูกเขาไล่ จึงจะเป็น “อเปหิ”

บาลีวันละคำ (169)

24-10-55

อป อุปสรรคนำหน้า เอติ (ไป, มา) มีความหมายในทำนองดังต่อไปนี้- หลีกไป, ทำให้พ้นไป, คร่าออกไป, นำออกไป, ผลักหรือดันออกไป, เดินออกไป, หันหรือเลี่ยงไป, ถอยไปข้างๆ, หลีกทาง, เก็บไว้, ขังไว้ (เก็บความจาก บาลี-อังกฤษ)

อเปหิ, อัปเปหิ

  [อะ-, อับ-] (ปาก) ก. ขับไล่. (ป. อเปหิ ว่า จงหลีกไป).

บุรุษ, บุรุษ-

  [บุหฺรุด, บุหฺรุดสะ-] น. ผู้ชาย, เพศชาย, คู่กับ สตรี, ใช้ในลักษณะที่สุภาพ; (ไว) คําบอกผู้พูด เรียกว่า บุรุษที่ ๑, คําบอกผู้ที่พูดด้วย เรียกว่า บุรุษที่ ๒, คําบอกผู้ที่พูดถึง เรียกว่า บุรุษที่ ๓. (ส. ปุรุษ; ป. ปุริส).

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย