บาลีวันละคำ

พยาบาล (บาลีวันละคำ 170)

พยาบาล

(บาลีปลอม)

อ่านว่า พะ-ยา-บาน

พยาบาล” ตามความหมายที่เราเข้าใจกันทั่วไป คือ ดูแลคนไข้, ปรนนิบัติคนไข้ (คำกริยา) และ ผู้ดูแลคนไข้ (คำนาม)

คำนี้รูปร่างหน้าตาเหมาะที่จะเป็นภาษาบาลี แต่เมื่อตรวจสอบดูแล้วปรากฏว่า ไม่มีคำบาลีรูปนี้ปรากฏอยู่ในคัมภีร์บาลีฉบับใดๆ

รูปคำที่ใกล้เคียงที่สุดก็คือ “พฺยาปาร” เขียนแบบไทยว่า “พยาบาร” ( เรือ สะกด) แปลว่า ความขวนขวาย, การอาชีพ

ภาษาสันสกฤตมีคำว่า “วฺยาปาร” (คำเดียวกับ พฺยาปาร) หนังสือสํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน แปลเป็นไทยว่า การงาน, กิจการ, ประโยค, การฝึกหัด และแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า occupation, business; practice, exercise.

เป็นอันว่า “พยาบาล” กับ “พยาบาร” เป็นคนละคำและคนละความหมายโดยสิ้นเชิง และ “พยาบาล” ยังไม่พบในภาษาบาลี

ถ้าจะเกณฑ์ให้ “พยาบาล” เป็นคำบาลี ก็ต้องบอกว่า มาจาก พฺยาธิต (= คนไข้) + ปาล (= ผู้ดูแล, ผู้รักษา)

พฺยาธิต” ลบ “-ธิต” ออก คงเหลือ “พฺยา-” + ปาล = พฺยาปาล เขียนแบบไทยว่า “พยาบาล” แปลว่า “ผู้ดูแลรักษาคนไข้

ที่ว่ามานี้คือ “ลากเข้าวัด” หรือ “จับบวช” นั่นเอง

พบพยานหลักฐานที่แน่นอนว่า “พยาบาล” เป็นภาษาอะไรกันแน่ – อย่าปล่อยให้คำผิดลอยนวล – จับสึกได้ทันที

บาลีวันละคำ (170)

25-10-55

พยาบาล

  [พะยาบาน] ก. ดูแลคนไข้, ปรนนิบัติคนไข้; (โบ) เอื้อเฟื้อเลี้ยงดู.น. ผู้ดูแลคนไข้.

วฺยาปาร ป. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)

ความขวนขวาย, การอาชีพ.

วฺยาปาร (สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน)

น. ‘พยาบาร’, การย์ (= การงาน), กฤตยการย์ (= กิจการ), ประโยค, การฝึกหัด occupation, business; practice, exercise.

พฺยาธิ ป. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)

พยาธิ, ความเจ็บป่วย, ความป่วยไข้.

พฺยาธิต ค.

อันโรคเบียดเบียนแล้ว.

ปาล ค. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)

ผู้ปกครอง, ผู้รักษา.

ปาล นป.

การปกครอง, การรักษา.

ความคิดเห็นจากผู้อ่าน

1ถูกใจ ·  ·เลิกติดตามโพสต์ติดตามโพสต์ · แชร์.

Arkom Mc, Phannop Worasom, Somlak Phollajan และ คนอื่นอีก 42 คน ถูกใจสิ่งนี้.

ฝันในฝัน ทะเลแห่งความรัก

555 ผมชอบทิ้งท้ายอาจารย์ครับ 🙂

เมื่อวานนี้ เวลา 20:54 น. · เลิกชอบ · 2..

Wanwisa Wanchana

ได้ความรู้ดีค่ะ อาจารย์ทิ้งท้ายสนุกอะค่ะ ..ขอบพระคุณค่ะ

เมื่อวานนี้ เวลา 21:24 น. · เลิกชอบ · 1..

Pakorn Pukahuta

แจ่มแจ้งมากครับ ^^

เมื่อวานนี้ เวลา 21:25 น. · เลิกชอบ · 2..

Phra Maha Aditya Adittamedhi

55555 + สาธุ สาธุ

เมื่อวานนี้ เวลา 21:30 น. · เลิกชอบ · 2..

Wanwisa Wanchana

ท่านอาจารย์มีอารมณ์ขันดีค่ะ ^ ^

เมื่อวานนี้ เวลา 21:32 น. · เลิกชอบ · 1..

Somtob Suwanrat

ขอแสดงความคิดหน่อยนะครับ หากว่า มาจาก คำว่า วย ที่แปลว่าความเสื่อม หละครับ น่าเป็นไปได้ไหม แต่ อา มาจากไหนอีก บวกด้วย ปาล เป็นการยากสำหรับผม เพราะว่า ไม่รู้ภาษาละเอียดอย่างลึกซึ้้ง

เมื่อวานนี้ เวลา 21:55 น. · เลิกชอบ · 2..

Somtob Suwanrat

แล้ว แปลง ว เป็น พ ได้หรือเปล่า

เมื่อวานนี้ เวลา 21:55 น. · เลิกชอบ · 2..

นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย

วย + ปาล น่าขบคิดครับ

ประการแรก ต้องตอบคำแย้งได้ว่า วย ความเสื่อม (ของสังขารร่างกาย) เป็นสภาวะปกติ เกิดกับสรรพสิ่งอยู่ตลอดเวลา เราจะ “ปาล” มันอย่างไร ?

ช่วยขบประเด็นนี้นะครับ บางทีอาจมีเหตุผลที่ฟังขึ้น

เมื่อวานนี้ เวลา 22:03 น. · ถูกใจ · 3..

Somtob Suwanrat

ครับผม คิดตามประสาชาวบ้านว่า โรงพยาบาล เป็นที่รักษาเยี่ยวยา ความเสื่อมของอัตภาพนั่นเอง แต่ถ้าเป็นความเสื่อมของสิ่งของ ก็ไปหาช่างซ่อม เช่น อู่รถ เป็นต้น ผมคิดตามความคิดอันตื้นๆเท่านั้นนะครับผม

23 ชั่วโมงที่แล้ว · ถูกใจ · 1..

Pakorn Pukahuta

ผมคิดว่ารักษาเพื่อดำรงอัตภาพให้ร่างกายอยู่ได้ แต่อย่างไรก็ต้องตายอยู่ดีน่ะครับ

23 ชั่วโมงที่แล้ว · เลิกชอบ · 1..

Up Jaya

ตึกสามัคคีพยาบาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

23 ชั่วโมงที่แล้ว ผ่าน มือถือ · เลิกชอบ · 1..

Somlak Phollajan

สาธุ

9 ชั่วโมงที่แล้ว · เลิกชอบ · 1..

นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย

ขอแรงเพื่อนๆ ที่อยู่ใกล้ตึกสามัคคีพยาบาร (อยู่ใกล้ตัวตึก, อยู่ใกล้ข้อมูลการตั้งชื่อตึกนี้) ลองสืบเสาะดูทีว่า ท่านคิดกันอย่างไรในการตั้งชื่อตึกเช่นนี้ ก็จะเป็นองค์ความรู้ทางภาษาของพวกเราอีกเรื่องหนึ่ง-ขอบพระคุณล่วงหน้าครับ

8 ชั่วโมงที่แล้ว · ถูกใจ..

Up Jaya

โทษฐานที่อยู่ใกล้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แต่จริงๆ เรื่องที่ได้ยินมาไม่ได้ได้ยินจากแถวนี้ ..พอจะได้ความ หากจำไม่ผิด ว่า ตึกสามัคคีพยาบาร เป็นตึกที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงสร้างร่วมกับศิษยานุศิษย์ของพระองค์สามัคคีร่วมกันสร้างในคราวหายประชวร ราวปี 2490 กว่าๆ กว่าแค่ไหนจำมิได้ครับ เมื่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้า จะประทานนามตึกก็คงจะทรงพระดำริว่าตึกนี้แล้วเสร็จด้วย ความเพียรพยายามอย่างสามัคคีของหมู่ศิษย์ ซึ่งก็คือ “สามัคคีพยาบาร” และเป็นเสียงพ้องกับ “พยาบาล” จึงประทานนามตึกนี้ว่า “สามัคคีพยาบาร” ใช้สำหรับเป็นที่พักของภิกษุอาพาธ นับเป็นชื่อตึกที่คนเขียนผิดกันมากที่สุดครับ

8 ชั่วโมงที่แล้ว · เลิกชอบ · 2..

Up Jaya

ต่อมาตึกแถบนั้นถูกทุบไปหลายตึก เช่น ตึกวชิรญาณ ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงสร้างเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และตึกสามัคคีพยาบาร ที่ศิษย์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ร่วมสร้างครั้งกระนั้น เพื่อสร้างใหม่ให้ใหญ่โตเหมาะสมเป็นตึกเดียว ในรัชกาลปัจจุบัน พระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานนามใหม่ว่า ตึกวชิรญาณ-สามัคคีพยาบาร ดังปรากฏในปัจจุบัน ..ตึกนี้จึงกลายเป็นพระอนุสรณ์ร่วมแห่ง “วชิรญาณวโรรส” ผู้พระอุปัชฌายะ (สมเด็จพระมหาสมณะ) ของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า และ “วชิรญาณวงศ์” ผู้สัทธิวิหาริก (สมเด็จพระสังฆราชเจ้า) ของสมเด็จพระมหาสมณะ ไปด้วยพร้อมกันครับ

8 ชั่วโมงที่แล้ว · เลิกชอบ · 2..

ผจญ จอจาน

(๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๕)

วันนี้ผมฟังครูให้สัมภาษณ์ สทร. ขอกราบขอบพระคุณครูที่ได้มอบวรรณกรรม อันยอดเยี่ยมไว้กับแผ่นดินครับ

2 ชั่วโมงที่แล้ว · เลิกชอบ · 1..

นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย

(๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๕ ๒๒:๑๕)

ขอบพระคุณท่านอาจารย์ Up Jaya ที่กรุณาให้ข้อมูลอันมีค่ายิ่ง – สาธุ

2 นาทีที่แล้ว · ถูกใจ

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย