วันอาภากร 19 พฤษภาคม กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระบิดาทหารเรือไทย
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ต้นราชสกุล “อาภากร”
ยุครัตนโกสินทร์รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงปกครองประเทศสยาม ตามแผนที่ที่ถูกรุกรานโดยประเทศฝรั่งเศส นำกองทัพเรือมาปิดปากอ่าวไทย ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า13 กรกฎาคม พ.ศ.2436 เรียกกันว่าสงคราม ร.ศ.112 หรือวิกฤตการณ์ ร.ศ.112ไทยต้องเสียเงินค่าไถ่มากมายมหาศาลสำหรับผู้รุกรานที่อ้างว่าเสียหาย (เศร้าจริง)พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงส่งพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนเทพทวาราวดี (ต่อมาได้ทรงรับสถาปนาเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามกุฎราชกุมาร และเสวยราชเป็น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในเวลาต่อมา) พร้อมด้วย พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์โดยมีพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณเป็นผู้นำเสด็จฯ และพระมนตรีพจนกิจ (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) เป็นพระอภิบาล โดยเรือมกุฎราชกุมาร (ลำที่หนึ่ง) เรือเอกกุลล์เบิก(V.P.P.Guldberg) เป็นผู้บังคับการเรือเป็นพาหนะไปส่งเสด็จลงเรือเมล์ที่สิงคโปร์ทั้งสองพระองค์ เสด็จไปกราบถวายบังคมลาพระบิดา ที่พระราชวังบางปะอิน หลังจากเหตุการณ์วิกฤติ จากนั้นเสด็จฯโดยเรือมกุฎราชกุมาร จากบางปะอิน กลับมาพระนคร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นท่าราชวรดิฐ เรือมกุฎราชกุมาร เดินทางต่อไปถึงสิงคโปร์
กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ร.ศ.119
เรือเมล์สิงคโปร์ จากเมืองสิงคโปร์แล่นฝ่าคลื่นเข้าสู่น่านน้ำประเทศสยามยามราตรี เข้าเขตปากน้ำ เมื่อเรือเทียบท่า พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมและพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิธาดา ประทับรอรับ พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ พระราชโอรสพระองค์แรก ที่ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารเรือ จากโรงเรียนนายเรือแห่งราชนาวีอังกฤษจากเรือสุริยมณฑล เสด็จมาประทับรถไฟสายปากน้ำมาถึงสถานีวัวลำพอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯโดยรถยนต์พระที่นั่ง มารับที่สเตชั่นวัวลำพอง (หัวลำโพง) นำพระโอรสขึ้นรถพระที่นั่ง ผ่านถนนเจริญกรุง เข้าสู่พระราชฐานพระบรมมหาราชวัง
รุ่งขึ้นวันที่ 12 มิถุนายน 2443 เวลา 20.00 น. ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยง พระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อเป็นเกียรติแก่พระราชโอรส ผู้สำเร็จการศึกษาวิชาการทหารเรือ ณ พลับพลาสวนดุสิต พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ทรงได้รับพระราชทานยศเป็นเรือโท (เท่ากับนาวาตรีในปัจจุบัน) ตำแหน่งนายธง ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมผู้บัญชาการกรมทหารเรือ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ทรงเป็นเจ้านายที่ขยันทรงงาน ทั้งปรับปรุงแก้ไขระเบียบการศึกษา เรียนรู้การเดินเรือ ทรงเตรียมจัดสร้างโรงเรียนนายเรือเพื่อความเหมาะสมและในที่สุดก็ทรงจัดแก้ไขสภาพการจนมีโรงเรียนนายเรือ ที่ฝึกอบรมคนไทยเป็นทหารเรือที่มีความรู้ ความสามารถ เทียบเท่าโรงเรียนต้นแบบในยุโรปได้ ในเวลาไม่นานนัก
พระกรณียกิจ ในพ.ศ.2449 (ร.ศ.125)
เป็นการทำพิธีเปิดโรงเรียนนายเรือณ พระราชวังเดิม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาทรงกระทำพระราชพิธีเปิดโรงเรียนนายเรือ เมื่อ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2449 (ร.ศ.125) พระราชกรณียกิจที่ทรงวางรากฐานกองทัพเรือ นับเป็นคุณูปการแก่ประเทศสยามสืบมา ทรงเป็นพระบิดาของ
กองทัพเรือไทย ทรงดำเนินพระภารกิจส่วนใหญ่เพื่อทหารเรือโดยแท้ จนบั้นปลายพระชนม์ชีพ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ เสด็จไปพักผ่อนจากการทรงงานเมื่อ 17 เมษายน พ.ศ. 2466 เสด็จฯจากกรุงเทพฯ เมื่อ 21 เมษายน 2466 ด้วยเรือหลวงเจนทะเล ไปประทับอยู่ที่ด้านใต้ปากน้ำชุมพร ณ บ้านสวนริมหาดทรายรีจังหวัดชุมพร เกิดเป็นพระโรคหวัดใหญ่เนื่องจากทรงถูกฝน ประชวรเพียง 3 วันก็สิ้นพระชนม์ที่ตำบลหาดทรายรี วันที่ 19พฤษภาคม พ.ศ. 2466 เวลา 11.40 น.สิริพระชนมายุได้ 42 พรรษา 5 เดือน ร.ล.เจนทะเล จึงเป็นเรืออัญเชิญพระศพ มาส่งต่อให้ ร.ล.พระร่วง นำพระศพมาประดิษฐานไว้ที่วังในพระนคร จัดพระราชพิธีอัญเชิญไปพระราชทานเพลิง วันจันทร์ที่24 ธันวาคม พ.ศ.2466 ณ พระเมรุท้องสนามหลวง จากนั้นได้อัญเชิญพระอัฐิบรรจุเก็บไว้ ณ วิหารน้อย วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร ประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทาน ในวันที่19 พฤษภาคม เป็นประจำทุกปี อัฐิอีกส่วนหนึ่งบรรจุไว้ที่ใต้พระแท่น งานในฐานเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ยอดเขากระโจมไฟ แหลมปู่เจ้าอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ที่เรียกกันว่าฐานทัพเรือสัตหีบ ประสูติ 19 ธันวาคม 2423สิ้นพระชนม์ 19 พฤษภาคม 2466
“วันอาภากร”
19 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันสิ้นพระชนม์ของต้นราชสกุลอาภากรแล้ว ยังเป็นวันอำลาจากของอีกหลายท่านที่มีความสัมพันธ์สืบเนื่องกับราชสกุลอาภากร และสร้างประวัติศาสตร์สืบทอด มาเล่าสู่กันฟัง 19 พฤษภาคมสิ่งแรกที่จะได้เห็นทั่วทั้งประเทศไทย สืบทอดกันมา ทหารเรือจะแต่งกายสีขาวทั่วประเทศไทยเพื่อระลึกถึง พระบิดาแห่งกองทัพเรือไทย
19 พฤษภาคม 2466 เป็นวันสิ้นพระชนม์ของ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ต้นราชสกุล “อาภากร” พระบิดาของทหารเรือไทย
19 พฤษภาคม 2484 บิดาของ หม่อมกอบแก้ว (วิเศษกุล) อาภากร ณ อยุธยา พลโทพระยาสุรินทราชาฯ(นกยูง) ต้นสกุลวิเศษกุล นักแปลและล่ามคนแรกของประเทศไทย นักเรียนฝึกหัดครูหมายเลข 1สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทยใช้นามท่านเป็นรางวัลให้กับนักแปลและล่ามดีเด่น คือ รางวัลสุรินทราชา
19 พฤษภาคม 2489 พลโท,พลเรือโท, พลอากาศโท, พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ ทิพอาภา พระโอรสองค์โตของ พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ อดีตประธานคณะผู้สำเร็จราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) สิ้นชีพิตักษัย
19 พฤษภาคม 2551 สตรีที่มีความงดงาม สดใสดุจดวงมณีแจ่มจรัสหม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยาในพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา สตรีผู้หารายได้ช่วยองค์การยูนิเซฟสหประชาชาติ ภาคพื้นเอเซียได้เป็นลำดับที่ 1ติดต่อกัน 3 ปี และเป็นประธานฝ่ายหารายได้ สภากาชาดไทยมานานกว่า 22 ปี ได้อำลาสังขารด้วยวัย 100 ปี
19 พฤษภาคม ของทุกปี จึงเป็นวันจารึกพระเกียรติคุณของเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ความทรงจำของราชสกุลอาภากรของราชนาวีไทย กองทัพเรือที่มีพระองค์ท่านเป็นผู้บัญชาการทหารเรือที่สามารถ ทรงมีพรสวรรค์ในทางดนตรีและทรงมีพระอัจฉริยภาพทางการแพทย์แผนไทย จนเทิดพระนามท่านเป็น “หมอพร” ทรงเป็นต้นแบบของผู้นำการสร้างสรรค์ ให้คนไทยรู้รักสามัคคีดังความบางตอนในเพลงทรงนิพนธ์เพื่อราชนาวีไทย
“เกิดมาเป็นไทย
ใจร่วมกันแหละดี
รักเหมือนพี่เหมือนน้อง
ช่วยกันป้องปฐพี”
และการที่ทรงเปรียบทหารเรือให้เข้ากับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม
“พวกเราทุกลำ
จำเช่นดอกประดู่
วันไหนวันดี
บานคลี่พร้อมอยู่
วันไหนร่วงโรย
ดอกโปรยตกพรู
ทหารเรือเราจงดู
ตายเป็นหมู่เพื่อชาติไทย”
ถ่ายทอดถ้อยคำได้ประทับใจมายาวนานจนปัจจุบัน เพื่อสร้างความรักสามัคคีของชาวไทยทุกชุมชน
มิเพียงทหารเรือ วันอาภากร เป็นวันประวัติศาสตร์สำคัญวันหนึ่ง กรมหลวงชุมพรฯพระบิดา ผู้ทรงสร้างพลังทางทะเลให้ประเทศไทยสามารถนำเรือรบและธงราชนาวีไทย ไปโบกสะบัดพลิ้วในต่างแดน “ทั้งเซาท์ ทั้งเวสต์ทั้งนอร์ท ทั้งอีสท์” พื้นที่ทุกทวีปทั่วโลก ดังเพลงที่เคยได้ยินกันว่า “ทะเลนั้นเป็นเหมือนถิ่นของเรา”ความทรงจำใน “เสด็จเตี่ย” มิเคยลืม..
ที่มาบทความ : www.naewna.com