บาลีวันละคำ

เทพ (บาลีวันละคำ 177)

เทพ

อ่านว่า เทบ

บาลีคำนี้ ในภาษาบาลีเป็น “เทว” (เท-วะ) เมื่อใช้ในภาษาไทยแปลง ว เป็น พ ตามสูตรที่นิยมทั่วไป (เช่น วร เป็น พร วิวิธ เป็น พิพิธ)

“เทว” ในภาษาบาลีมีความหมายว่า เทพเจ้า, เทวดา; พระยม, ความตาย; สมมติเทพ, พระราชา; ฟ้า, ท้องฟ้า; ฝน, เมฆฝน.

ในภาษาไทย “เทพ” มีความหมายเด่นเฉพาะว่า เทพเจ้า หรือ เทวดา ความหมายอื่นตามบาลีแทบจะไม่เป็นที่รู้จักในภาษาไทย

ในทางพระศาสนา ท่านจัด “เทพ” เป็น 3 คือ

1- สมมติเทพ เทวดาโดยสมมติ = พระราชา, พระเทวี พระราชกุมาร

2- อุปปัตติเทพ เทวดาโดยกำเนิด = เทวดาในสวรรค์และพรหมทั้งหลาย

3- วิสุทธิเทพ เทวดาโดยความบริสุทธิ์ = พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย (รวมบิดามารดาเข้าด้วยในฐานะเป็นพระอรหันต์ของลูก)

เคยมีภาษาปากพูดกันว่า “ขั้นเทพ” (ขั้น – ข ไข่ ไม่ใช่ ชั้น – ช ช้าง) หมายถึงผู้มีฝีมือเก่งกาจสุดยอดในทางใดทางหนึ่งที่ไม่มีใครสู้ได้

ประเด็นถกเถียงโดดเด่นเมื่อเอ่ยถึง “เทพ” ก็คือ เทวดามีจริงหรือไม่

ประเด็นที่ลืมถกเถียงก็คือ ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเทวดามีจริงหรือไม่มีจริงแล้ว จะได้อะไรขึ้นมา และจะทำอย่างไรกันต่อไป

บาลีวันละคำ (177)

1-11-55

เทว

เทว ป. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)

เทพเจ้า, เทวดา; พระยม, ความตาย; สมมติเทพ, พระราชา; ฟ้า, ท้องฟ้า; ฝน, เมฆฝน.

เทพ ๑, เทพ-

  [เทบ, เทบพะ-] น. เทวดา. (ป., ส. เทว).

เทพ ๓

  น. สมณศักดิ์พระราชาคณะสูงกว่าชั้นราช ตํ่ากว่าชั้นธรรม เรียกว่า ชั้นเทพ เช่น พระเทพโมลี.

เทพ (ประมวลศัพท์)

เทพเจ้า, ชาวสวรรค์, เทวดา; ในทางพระศาสนา ท่านจัดเป็น ๓ คือ

๑. สมมติเทพ เทวดาโดยสมมติ = พระราชา, พระเทวี พระราชกุมาร

๒. อุปปัตติเทพ เทวดาโดยกำเนิด = เทวดาในสวรรค์และพรหมทั้งหลาย

๓. วิสุทธิเทพ เทวดาโดยความบริสุทธิ์ = พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย