สัมมาคารวะ (บาลีวันละคำ 178)
สัมมาคารวะ
บาลีคำนี้เขียนแบบไทย ถ้าเขียนแบบบาลีเป็น “สมฺมาคารว” อ่านว่า สำ-มา-คา-ระ-วะ
“สมฺมา” ความหมายที่เข้าใจกันทั่วไป คือ โดยทั่วถึง, โดยสมควร, โดยถูกต้อง, โดยชอบ, ตามสมควร, ดีที่สุด, โดยสมบูรณ์
“คารว” มีรากศัพท์จาก “ครุ” (ของหนัก, ของสำคัญ = ครู) + ณย ปัจจัย
แปลงตามกฎไวยากรณ์ คือ
– อุ (ที่ -รุ) เป็น โอ = คโร
– โอ เป็น อว = คโร เป็น ครว
– ทีฆะ (ยืดเสียง) พยางค์ต้น คือ ค เป็น คา = ครว เป็น คารว
“คารว” แปลว่า “ความเป็นของหนัก” “ความเป็นของสำคัญ” = การเห็นว่าผู้นั้นสิ่งนั้นเป็นของสำคัญ = ความเคารพนับถือ, ความอ่อนน้อม
“สมฺมา” เป็นคำบาลี “คารว” ก็เป็นคำบาลี แต่เมื่อรวมกันเป็น “สมฺมาคารว” ไม่พบว่ามีใช้ในภาษาบาลี
“สมฺมาคารว – สัมมาคารวะ” จึงเป็นบาลีปลอม หรือบาลีแบบไทย แปลตามศัพท์ว่า “ความเคารพอย่างถูกต้อง”
พจน. 42 บอกว่า “สัมมาคารวะ ความเคารพนบนอบ เช่น พูดกับผู้ใหญ่ต้องมีสัมมาคารวะ”
“สัมมาคารวะ” ให้ภาพและความหมายที่ดี มีแง่คิด :
“หัวคนก้มต่ำลงเพียงใด หัวใจก็สูงขึ้นเพียงนั้น”
บาลีวันละคำ (178)
2-11-55
คารว ป. คารวตา อิตฺ. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)
คารวะ, ความเคารพนับถือ, ความอ่อนน้อม.
สมฺมา ก.วิ. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)
โดยชอบ, ในทางดี, ในวิธีดี
สมฺมา อัพ. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)
โดยชอบ, ด้วยดี.
สมฺมา
โดยทั่วถึง, โดยสมควร, โดยถูกต้อง, โดยชอบ, ตามสมควร, ดีที่สุด, โดยสมบูรณ์
สมฺมา = สลักของแอก a pin of the yoke
สัมมา
ว. ชอบ, ดี, (มักใช้เป็นส่วนหน้าของสมาส) เช่น สัมมาทิฐิ สัมมาชีพ. (ป.; ส. สมฺยกฺ).
สัมมาคารวะ
น. ความเคารพนบนอบ เช่น พูดกับผู้ใหญ่ต้องมีสัมมาคารวะ.
สัมมาจริยา
น. การประพฤติชอบ. (ป.).
สัมมาชีพ
น. อาชีพที่สุจริต, อาชีพที่ชอบธรรม, เช่น การทำไร่ทำนานับว่าเป็นสัมมาชีพอย่างหนึ่ง. (ป. สัมมา + อาชีว).
ลักษณะอคารวะ ดูใน สารัตถปกาสินี (สํ.อ.) ภาค ๒ หน้า ๓๒๓
มโน.ปู.๓/๑๒๕