บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

แกแก่แล้ว

แกแก่แล้ว

———–

ท่านเคยได้ยินคนพูดประโยคสั้นๆ นี้หรือไม่ 

ท่านเคยถูกคนพูดถึงด้วยประโยคสั้นๆ นี้บ้างหรือไม่ 

ตัวท่านเองล่ะเคยพูดถึงใครด้วยประโยคสั้นๆ นี้บ้างหรือเปล่า

และคำถามสำคัญ – ท่านเคยถูกใครพูดใส่หน้าแล้วหรือยังว่า “ไอ้แก่” หรือ “อีแก่”

……………….

“แกแก่แล้ว” เป็นคำที่พูดด้วยความรู้สึกในเชิงดูถูกนิดๆ ดูแคลนหน่อยๆ ไม่นับถือ ไม่เห็นว่ามีค่า ไม่เห็นว่าสำคัญ และเหมือนกับจะพูดต่อไปอีกว่า-อย่าไปถือสาอะไรแกเลย ปล่อยแกไปเถอะ แกอยู่ไปได้อีกไม่กี่วันหรอก เดี๋ยวแกก็ตายแล้ว 

ผมโชคดีที่รอดนรกขุมนี้มาได้อย่างราบรื่น-คือไม่เคยดูถูกผู้สูงอายุไม่ว่าจะด้วยการกระทำ คำพูด หรือแม้แต่ใจคิด 

ผมได้รับการอบรมสั่งสอนทั้งจากผู้ใหญ่ และจากค่านิยมของสังคมรอบตัวให้เคารพคนแก่ 

ตอนเป็นเด็ก ในวัยที่ต้องออกจากบ้านไปวิ่งเล่นกับเพื่อนเป็นกิจวัตร ผมจะถูกพ่อแม่และผู้ใหญ่ในบ้านสั่งสอนย้ำเตือนว่า “เจอคนแก่ให้ยกมือไหว้เหมือนไหว้พระ” 

คำว่า “… เหมือนไหว้พระ” ยังก้องอยู่ในใจมาจนวันนี้ 

และยังจำภาพตัวเองและเพื่อนเด็กๆ-ที่เมื่อไปเจอคนแก่ที่ไหน จะรู้จักหรือไม่รู้จักก็ตาม เราก็จะยกมือไหว้เหมือนไหว้พระทุกครั้งไป

ผมแน่ใจว่าเด็กรุ่นใหม่ของเราไม่เคยได้รับการอบรมสั่งสอนให้ประพฤติเช่นนี้

อย่าว่าแต่คนแก่เลย แม้แต่พระสงฆ์องคเจ้า สมัยนี้เราก็ไม่เคยสั่งสอนกันให้เคารพ 

เด็กสมัยผม ถูกสอนว่า เจอพระที่ไหนให้นั่งลง ประนมมือไหว้ รอจนท่านผ่านไปแล้วจึงค่อยลุกขึ้นทำอะไรๆ ต่อไป 

ไม่ใช่สอนแต่ปาก ผู้ใหญ่ท่านทำให้เห็นเป็นมารยาทสังคมกันทั่วไป 

แต่เด็กสมัยนี้บอกว่า ตลกว่ะ ไร้สาระฉิบหายเลย 

เขามีเหตุผลเป็นกระบุงที่จะยกขึ้นมาเถียงว่าทำไมจะต้องเคารพพระ ไม่เห็นจำเป็นจะต้องเคารพ พระเดี๋ยวนี้ทำอะไรๆ เหมือนชาวบ้านทุกอย่างแล้วจะต้องเคารพทำไม 

เอากะพ่อเอากะแม่สิ

เพราะฉะนั้น สมัยก่อนโยมหลีกทางให้พระ แต่สมัยนี้พระต้องหลีกทางให้โยม

…………………

ลัทธิดูถูกคนแก่นับวันจะยิ่งงอกงามขึ้นในใจผู้คน 

ผมโชคดีอีกอย่างหนึ่งคือ เติบโตและได้รับการศึกษาในสังคมที่สอนให้เคารพผู้อาวุโส-คือสังคมวัด 

หลักคำสอนที่คุ้นกันดี คือ กุเลเชฏฺฐาปจายี และ วุฑฺฒาปจายี (ขอแรงท่านที่เรียนบาลีและพอมีเวลากรุณาช่วยแปลให้หน่อย)

เวลาทำบุญแล้วพระท่านสวดอนุโมทนา เราจะคุ้นกับคำบาลีตอนจบ หลายคนถึงกับว่าตามพระได้คล่อง คือตอนที่ว่า 

อภิวาทนสีลิสฺส

นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน

จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ

อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ. 

(อะภิวาทะนะสีลิสสะ

นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน

จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ

อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง.) 

แปลว่า – 

ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ 

ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีปกติไหว้กราบ 

มีปกติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นนิตย์

……………

สรุปก็คือท่านสอนว่า อย่าดูถูกคนแก่ 

น่าเสียดายที่เราส่วนมากฟังในฐานะเป็นพิธีกรรมเท่านั้น จึงไม่ได้สนใจสาระที่พระท่านหยิบยื่นให้ 

คุ้นกันแต่คำว่า อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง แต่คำอื่นๆ ไม่รู้และไม่สนใจที่จะรู้ด้วย

เราชอบทำบุญ รับพรที่พระท่านให้ว่า-อย่าดูถูกคนแก่ 

แต่เราก็ดูถูกคนแก่กันทั่วไป และดูถูกกันยิ่งขึ้นทุกวัน

ตรงนี้ต่างหากที่ควรจะพูดว่า ตลกว่ะ ไร้สาระฉิบหายเลย 

……………

การเกิดก่อนและอยู่มาจนได้เป็นคนแก่ สำหรับผม ถือว่าเป็นกำไรชีวิตที่มีค่ามากๆ 

ที่มีค่ามากก็คือเมื่อได้ยินคนพูดถึงเราว่า “แกแก่แล้ว (อย่าไปถือสาแกเลย)”

แต่ที่มีค่ามากที่สุดก็คือ เมื่อถูกคนชี้หน้าหรือพูดใส่หน้าว่า “ไอ้แก่” เพราะนี่คือบททดสอบสภาพจิตใจที่แสนจะวิเศษ 

และแสนวิเศษยิ่งขึ้นเมื่อพบว่า เราผ่านบททดสอบนี้มาได้อย่างราบรื่น 

ขอบคุณที่พูดถึงเราว่า “แกแก่แล้ว” 

และขอบคุณอย่างยิ่งที่เตือนเราว่า “ไอ้แก่” 

เพราะมันทำให้เรายิ่งระมัดระวังตัว ปรับตัว ทำสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้มีสิ่งที่คนแก่ควรมีและต้องมี-นั่นคือคุณธรรมความดีทั้งปวงในฐานะที่เกิดมาก่อนและโลกให้โอกาสที่จะแสวงหาได้ก่อนคนอื่น 

พร้อมไปกับความภูมิใจเงียบๆ ที่เราผ่านรสชาติของคำดูถูกดูแคลนคำนั้นมาได้อย่างสงบ ราบรื่น และมีกำลังใจเต็มเปี่ยม 

เราได้แต่หวังว่า คนที่พูดถึงเราว่า “แกแก่แล้ว” และพูดใส่หน้าเราว่า “ไอ้แก่” จะประคองชีวิตให้ตลอดรอดฝั่งต่อไปได้จนถึงวันที่ได้เป็นคนแก่อีกคนหนึ่งในโลก

และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า วันนั้นเมื่อเขาถูกใครพูดถึงว่า “แกแก่แล้ว” หรือพูดใส่หน้าว่า “ไอ้แก่” หรือ “อีแก่” 

เขาจะผ่านมันไปได้อย่างสงบ ราบรื่น และมีกำลังใจเต็มเปี่ยม-เหมือนเรา 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๘ มีนาคม ๒๕๖๒

๑๐:๕๔

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *